ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของการพูด

ความหมายของการพูด
การพูด หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ประสบการณ์ และอื่น ๆ จากผู้พูดไปยังผู้ฟัง โดยผ่านทางถ้อยคำ สีหน้า แววตา รวมทั้งน้ำเสียง และอากัปกิริยาที่แสดงประกอบ เพื่อให้ผู้ฟังรับรู้ และเกิดการตอบสนองทั้งทางวัจนภาษา และอวัจนภาษา ได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ผู้พูดวางไว้
องค์ประกอบของการพูด
๑. ผู้พูด คือผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ประสบการณ์ และอื่นๆ ของตนไปยังผู้ฟังโดยผ่านทางการพูด ผู้พูดที่ดีนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหลายประการ อาทิเช่น มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีบุคลิกภาพที่ดี มีการเลือกใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง อากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง แววตา และอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับผู้ฟัง และสถานการณ์การพูด เพื่อให้ผู้พูดในแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นหมายถึง สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจ เนื้อหาสาระ ที่พูดได้ง่าย ชัดเจน และรวดเร็ว รวมทั้งผู้ฟังสามารถแสดงพฤติกรรม ตอบสนองได้ตรง ตามจุดมุ่งหมายที่ผู้พูดวางไว้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ ผู้พูดจะได้จากการ ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ และการเตรียมการที่ดีด้วย
๒. สาร คือ เรื่องราวอันประกอบด้วยความรู้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ประสบการณ์ และอื่นๆ ขิงตนไปยังผู้ฟัง สารที่ดี ควรเป็นสิ่งที่ ผู้พูดถนัดหรือ มีประสบการณ์ และที่สำคัญต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับผู้ฟัง และสถานการณ์ในขณะนั้นอีกด้วย
๓. สื่อ คือ สิ่งที่ช่วยให้ผู้พูดสามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ประสบการณ์ และอื่นๆ ของตนไปยังผู้ฟังได้สะดวก รวดเร็ว ชัดเจน และน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่สื่อทางภาษา
๔. ผู้ฟัง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รับการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ประสบการณ์ และอื่นๆ ของผู้พูดโดยผ่านการฟัง โดยผู้ฟัง อาจมีการแสดง พฤติกรรมตอบสนองต่อการพูดของผู้พูดก็ได้ เช่น ผงกศีรษะ ปรบมือ ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ กระทืบเท้า เป็นต้น
๕. สถานการณ์การพูด คือ กาลเทศะ ประกอบด้วย เวลา และโอกาส กับสถานที่ และสิ่งแวดล้อมขณะที่พูด ซึ่งสถานการณ์การกพูดนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้พูด ควรตระหนักถึงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั้งมีผู้กล่าวว่า สถานการณ์การพูดเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวร่างกายของผู้พูด กล่าวคือ หากสถานการณ์การพูด อย่างไม่เป็นทางการผู้พูด จะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปมาได้อย่างสะดวก และแสดงปฏิกิริยา ท่าทาง ได้โดยเสรี แต่ในขณะที่หากเป็นสถานการณ์การพูด อย่างเป็นทางการ ผู้พูดจะแสดงความเคลื่อนไหวของมือได้น้อยกว่าปกติ

ธรรมชาติของการพูด
การพูด เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างผู้พูดระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง โดยเมื่อผู้ส่งสารออกไป สารนั้นจะไปกระตุ้นหรือ เร้าให้ผู้ฟัง เกิดการตอบสนอง แล้วแสดง ปฏิกิริยา ตอบกลับ ออกมาทางวัจนภาษา เช่น การพูด การถาม การตอบ ฯลฯ หรืออวัจนภาษา ที่เป็นการแสดงออก ทางอากัปกิริยาต่างๆ
กระบวนการพูดนั้น เป็นกระบวนการที่มิได้สิ้นสุดหยุดนิ่ง (Static) แต่เป็นกระบวนการพลวัต (Dynamic) ที่มีปฏิกิริยาดังลูกโซ่

ทฤษฏีเกี่ยวกับการพูด
๑. ทฤษฎี S-M-C-R ของ เบอร์โล
เดวิด เบอร์โล (David K. Berlo) ได้คิดแบบจำลองขึ้นรู้จักกันในนาม The Source-Message-Receiver Model (S-M-C-R) เพื่ออธิบายลักษณะของการสื่อสารดังนี้
๑. แหล่งสาร - ผู้ใส่รหัส (The Source-Encoder)
๑. ๑ ทักษะในการสื่อสาร
๑. ๒ ทัศนคติ
๑. ๓ ระดับความรู้
๑. ๔ ระดับสังคมวัฒนธรรม
๒. ผู้รับสาร - ผู้ถอดรหัส (The Decoder-Receiver)
๓. สาร (Message)
๓. ๑ รหัสของสาร (Message code)
๓. ๒ เนื้อหาของสาร (Message content)
๓. ๓ การปรุงแต่งสาร (Message treatment)
การปรุงแต่งสาร เราจะพูดถึงในแง่ที่ว่าผู้ส่งสารเลือกนำส่วนใดมาเสนอ เลือกนำหลักฐานชิ้นใดมายืนยัน เขาจัด ย่อ และทบทวนเนื้อหาอย่างไร เขาจะเลือกใช้วิธีการพูดหรือเขียน ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวตัดสินว่า เราจะปรุงแต่งสารอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับ
๑) บุคลิก และลักษณะสถานภาพของผู้ส่งสาร
๒) ตัวผู้รับสาร
๔. ช่องทางการสื่อสาร หรือ สื่อ (Channel)
๔.๑ จำแนกตามพาหะของสาร
๔.๒ จำแนกตามสื่อของสาธารณชน
๔.๓ จำแนกตามประสิทธิภาพการรับรู้
๒. ทฤษฎีของอริสโตเติล
การโน้มน้าวใจจะมีประสิทธิผลมากน้อยยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการ คือ
๑) Ethos คือ บุคลิกลักษณะของผู้พูด
๒) Logos คือ การชี้แจงเหตุผล
๓) Pathos คือ การใช้อารมณ์
๓. ทฤษฎีของซิเซโร และ ควินติเลียน
แนะนำหลัก ๕ ประการที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพูดสัมฤทธิ์ผล ดังนี้
๑. การคิดค้น (Invention)
๒. การประมวลความคิด (Organization)
๓. การใช้ภาษา และลีลา (Style)
๔. การกำหนดจดจำ (Memory)
๕. การแสดงออกให้ปรากฏ (Delivery)

รูปแบบของการพูดตามจุดประสงค์ของผู้พูด
นักพูดส่วนใหญ่แบ่งรูปแบบของการพูดตามจุดประสงค์ของผู้พูดออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ
๑. แบบจูงใจหรือชักชวน (Persuasive Speech) ข้อควรปฏิบัติสำหรับการพูดแบบนี้ ประกอบด้วย
๑. ๑ ต้องสร้างความสนใจ
๑. ๒ สร้างความต้องการ
๑. ๓ สร้างความพอใจ
๑. ๔ สร้างมโนภาพ
๑. ๕ เรียกร้อง หรือ กระตุ้นให้ผู้ฟังทำตามที่ผู้พูดต้องการ
๒. แบบบอกเล่าหรือบรรยาย (Informative or Instructive Speech) หลักการสำหรับการพูดแบบนี้ ที่ผู้พูดควรนำไปปฏิบัติมีดังนี้
๒. ๑ ลำดับความให้ดี
๒. ๒ ขยายความให้ดี
๒. ๓ จังหวะดี
๒. ๔ ใช้คำพูดธรรมดา เข้าใจง่าย
๓. แบบบันเทิง (Recreative Speech) ในการพูดแบบนี้ ผู้พูดควรปฏิบัติดังนี้
๓. ๑ไม่ควรพูดนานเกินไป
๓. ๒ พูดให้ตรงกับเป้าหมาย
๓. ๓ เรื่องที่พูดควรให้ความสนุกสนาน

ระดับของการสื่อสารด้วยการพูด
ระดับของการสื่อสารด้วยการพูด ได้แบ่งออกเป็น ๔ ระดับ ตามจำนวนบุคคลที่ร่วมอยู่ในสถานการณ์การพูด โดยเรียงจาก ระดับเล็กที่สุด ไปจนกระทั่งระดับใหญ่ที่สุด ได้ดังนี้
๑. การพูดระหว่างบุคคล
๒. การพูดในกลุ่ม
๓. การพูดในที่ประชุม
๔. การพูดทางสื่อมวลชน

ข้อดี และข้อจำกัดของการสื่อสารด้วยคำพูด
ข้อดี
๑. สร้างความเข้าใจกับผู้พังได้อย่างรวดเร็ว
๒. เป็นเครื่องมือสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ได้ผลดีที่สุด
๓. สามารถพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่เราสื่อออกไปได้ผลหรือไม่ในทันที
๔. สามารถดัดแปลงแก้ไขคำพูดหรือยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับโอกาศ เวลา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ข้อจำกัด
๑. การสื่อสารด้วยคำพูดอาจถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่นเสียงรบกวน
๒. หากเรื่องที่สื่อสารมีความซับซ้อน หรือเป็นนามธรรมที่เข้าใจยาก การใช้คำพูดเพียงประการเดียว อาจทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจ ถ้าใช้การเขียนอาจเหมาะสมกว่า
๓. สารจากคำพูดอาจเป็นสารที่ไม่คงทน กล่าวคือ พูดเสร็จก็ผ่านหายไป ผู้ฟังก็ไม่มีโอกาศฟังซ้ำ ย่อมจะนำมาเป็ยหลักฐานได้ไม่สะดวกนัก
๔. การสื่อสารด้วยคำพูด มีโอกาสผิดพลาดในแง่ข้อเท็จจริง หรือผิดพลาดจาก เจตนาที่แท้จริงของผู้พูดได้ง่าย
คุณธรรม และจรรยามารยาทของผู้พูด
คุณธรรม มีความหมายกว้าง และลึกมาก เป็นสภาพนามธรรมประจำตัวมนุษย์ อันเป็นผลมาจากกการได้รับการศึกษาอบรม คุณธรรมเป็นเครื่องคอยกำกับจิตใจ ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในทางที่ดีงาม บุคคลย่อมพูด และกระทำไปในทาง ที่ถูกต้องดีงามด้วย
จรรยา หรือ จริยา หมายถึง การทำ การพูด การคิด ที่มีคุณธรรมประจำใจควบคุมไว้ ให้ดีงามอยู่เสมอ ซึ่งแยกออกได้เป็น กายจริยา วจีจริยา และ มโนจริยา
มารยาท หมายถึง กิริยาอาการ เฉพาะทางกาย และทางวาจา ที่แสดงออกให้ปรากฏตามแบบที่สังคมกำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ดังนั้นผู้พูดที่ดี นอกจากจะมีทักษะในการพูดอย่างดีแล้ว ยังต้องมีจรรยามารยาทของคนดีมาประกอบกันด้วย จรรยามารยาทที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ ความสุภาพเรียบร้อย ความจริงใจ และความรับผิดชอบต่อการพูดของตน ซึ่งทั้ง ๓ ประการนี้ จะทำให้ผู้ฟังประทับใจ และทำให้ได้รับความนิยมนับถือ อย่างแท้จริง
๑. ความสุภาพเรียบร้อย หมายถึง ความสุภาพเรียบร้อยทั้งในทาง กิริยาอาการ การแต่งกาย และการใช้คำพูด
๒. ความจริงใจ หมายถึง การใช้คำพูด และการแสดงออกในการยกย่อง สรรเสริญ แสดงความชื่นชมหรือแสดงความคิดเห็นอื่น ๆ ได้พอเหมาะพอควร และตรงกับความรู้สึกที่มีอยู่ในใจของผู้พูด ผู้พูดไม่ควรเสแสร้ง อย่างที่เรียกว่า ปากอย่างหนึ่งแต่ใจอย่างหนึ่ง
๓. ความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบมี ๒ ประเภทด้วยกัน คือ ความรับผิดชอบทางกฏหมาย และความรับผิดชอบทางคุณธรรม ความรับผิดชอบต่อการพูด ก็มีข้อที่จะต้องเพ่งเล็งประกอบเป็น ๒ ประการ เช่นกัน คือ
๑. ในการพูดทุกโอกาส ทุกกรณี ย่อมถือเป็นพันธะหน้าที่ที่ต้องจะพูดโดยเต็มใจ และตั้งใจพูด
๒. เมื่อได้พูดลงไปแล้วว่าอย่างไร ต้องไม่ลืมว่า ตนได้พูดเช่นนั้นจริง ๆ และไม่พยายามปฏิเสธคำพูดของตนเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น
วิชาการพูดเป็นวิขาการพูดทั้งศาสตร์ และศิลป์
การพูดเป็นพฤติกรรมสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ไม่ใช่สัญชาตญาณตามธรรมชาติ และความจำเป็น ทำให้มนุษย์ต้องพูด และพูดได้แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถพูดได้เอง ตามธรรมชาติ ต้องอาศัยการเรียนรู้จาก บุคคลแวดล้อม และเรียนรู้ตามลำดับแห่งความเจริญเติบโต เริ่มต้นด้วยคำพูดที่มีฐานที่เกิดของ เสียงจากริมฝีปากก่อน แล้วจึงเรียนรู้วิจิตพิสดารมากขึ้น การเรียนรู้เพื่อให้พูดได้เป็นเพียง พื้นฐานเบื้องต้นของการพูดเท่านั้น เพราะหากทำได้เพียงเท่านั้นก็จะต้องประสบกับปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างแน่นอน ดังนั้นหากต้องการพูดให้ได้ผลดีจริงๆ ต้องฝึกฝนการพูดโดยอาศัยหลักวิชาการพูดซึ่งมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ และฝึกฝนได้
การพูดที่ดี และมีประสิทธิภาพนั้นมิ ใช่ว่าผู้พูดอยากจะพูดอะไรก็ได้เพราะนั้น อาจส่งผลกระทบในทางลบกับตัวผู้พูดเอง การจะเป็นผู้พูดที่ดี ต้องมีการศึกษา และฝึกฝนวิธีการพูดที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการพูดที่ถูกต้องนั้น ก็มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้พูดสามารถจะนำไปศึกษา และฝึกฝนได้
ดังนั้นจึงถือว่า การพูดเป็นทั้งศาสตร์ (science) อันหมายถึง เป็นวิชาความรู้ และความเชื่อที่กำหนดไว้อย่างมีระบบระเบียบ และสามารถ พิสูจน์ หรือสามารถหาข้อเท็จจริงได้ และ ศิลป์ (art) เพราะต้องอาศัยการฝึกฝน โดยใช้เทคนิควิธีการที่จำเป็น ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธี หรือพลิกแพลงในด้านต่างๆ ให้เหมาะแก่ผู้พูดแต่ละคน เพื่อให้การพูดของเขาในแต่ละครั้งนั้นเป็นการพูดที่ดีมีรสชาติ มีชีวิตชีวา และทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน คล้อยตาม หรือประทับใจขึ้นได้ เป็นต้น
มีหลายคนที่เชื่อว่า การพุดเป็นพรสวรรค์ หรือเป็นธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงไม่อาจศึกษา และฝึกฝนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะกล่าวโดยทั่วไป การเรียนในทุกสาขาวิชาก็ต้องอาศัยพรสวรรค์อยู่บ้าง ในแง่ที่ว่าบางคนอาจเรียนได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือ รู้จักประโยชน์ได้ มากกว่าบางคน ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ แม้กระทั้งวิชาคัดลายมือ ในวิชาการพูด ก็เช่นกันบางคน อาจจะเรียนได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือ รู้จักประโยชน์ใช้ได้มากกว่าบางคน แต่ทุกคนสามารถเรียนได้ ผุ้ที่เรียนย่อมมีหลีกที่ดีกว่าเดิม และดีว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนการเรียนวิชาการพูดที่ถูกต้องต้องเรียนทั้งในฐานะที่เป็นศาสตร์ และศิลป์ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว
วัตถุประสงค์ของการฝึกฝนการพูด
วัตถุประสงค์ของการพูดมี ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อให้รู้จักการสื่อสารด้วยคำพูดที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการอยู่ และทำงานร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม บางคนอาจเรียนมาสูงสามารถพูดได้หลายภาษาแต่กลับพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่องพูดแล้วคนฟังไม่เข้าใจ บุคคลเหล่านี้ต้องมาฝึกฝนการพูดกันใหม่ มิฉะนั้นจะไม่สามารถอยู่ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
๒. เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้นำที่ดี ผู้นำต้องพูดเป็นเพราะ ผู้นำทำงานด้วยปาก ผู้ตามทำงานด้วยมือ แม้นว่ามนขณะนี้เราอาจจะเป็นผู้ตามก็ตาม แต่วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจมีโอกาสได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนหนึ่ง ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้
๓. เพื่อวางรากฐานของประชาธิปไตย ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ประชาชนจะต้องกล้าพุดกล้าแสดงออก รู้จักพุด รู้จักเสนอแนะ รู้จักคัดค้าน ถ้าไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าคัดค้าน ก็จะกลายเป็นคนที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบบเผด็จการในสังคมขึ้นได้
๔. เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ มนุษย์เราต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม ทั้งกับครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อร่วมงาน ฯลฯ ผู้ใดเป็นผู้มีมิตรภาพ มีสัมพันธ์ภาพที่ดี รู้จักพูดคุยตามกาลเทศะ ย่อมทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข บางคนอาจมีนิสัยดีไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยกับใครแต่ปากไม่ดีชอบพูดพล่ามโดยไม่ทันคิดทำให้คนอื่นไม่อยากคบหาสมาคมด้วย กลายเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ จนเป็นเหตุให้ขาดเพื่อนแท้ ขาดบริวารที่ดีไปได้
๕. เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ ผู้ที่มีโอกาสได้พุดในชุมชนบ่อยๆ จำทำให้เกิดผลดีในด้านการพัฒนาบุคลิกภาพไปในตัว เพราะในการฝึกฝนการพูดเราก็จะต้องฝึกด้านการพัฒนาบุคลิกภาพของเราควบคู่ไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้บุคลิกภาพของเราดีขึ้น เช่น การวางตัวดีขึ้น กิริยาท่าทางไม่เคอะเขิน แต่งการได้เหมาะสม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความกระตือรือร้น มีมนุษยสัมพันธ์ และมีคุณลักษณะอีกหลายประการที่หาไม่ได้จากที่ไหน
การเตรียมตัวเพื่อการพูดแบบต่างๆ
นักวิชาการ และนักพูดส่วนใหญ่ จำแนกวิธีการพูดออกเป็น ๔ วิธี คือ
- การพูดแบบไม่มีการเตรียมตัว
- การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ
- การพูดแบบพูดจากการท่องจำ
- การพูดแบบพูดจากเตรียมตัวหรือพูดโดยความเข้าใจ
ซึ่งแต่ละวิธีก็มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ และวิธีการในการเตรียมตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้
๑. การพูดแบบไม่มีการเตรียมตัว ( Impromptu Speech )
การพูดแบบไม่มีการเตรียมตัวนั้น มักเกิดขึ้นได้เสมอในชีวิตประจำวัน เช่น ในงานเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสต่างๆ งานพิธีมงคลสมรส ฯลฯ ที่ผู้พูดอาจได้รับเชิญให้พูดโดยกะทันหัน ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมเนื้อหาสาระในการพูด ซึ่งความไม่พร้อมนี้ อาจจะส่งผลกระทบให้การพูดในครั้งนั้น ไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
การพูดแบบนี้ถือว่า อันตรายที่สุด เพราะหากไม่มีประสบการณ์หรือ ชั่วโมงบิน มากจริงๆ จะทำไม่ได้ โดยเฉพาะในการบรรยาย ที่ผู้ฟังไม่สนใจฟัง ด้วยเหตุนี้ผู้พูดที่ดีซึ่งต้องการประสบความสำเร็จในการพูด จึงควรมีการเตรียมตัวเพื่อ แนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไว้จะได้ประโยชน์ในยาม ที่ได้รับเชิญให้พูดโดยกะทันหัน
ในการพูดแบบนี้ผู้พูดมักไม่มีเวลา ในการเตรียมตัว และเตรียมเนื้อหาสาระในการพูดมากนักอย่างเพียงแค่ไม่กี่นาทีก่อนขึ้นพูด ซึ่งวิธีการเตรียมตัว ในระยะเวลาอันสั้น เช่นนี้ผู้พูดอาจกระทำได้โดย หากในสถานการณ์ที่ผู้พูดได้รับเชิญให้พูด โดยกะทันหัน ไม่มีการเตรียมตัว มาก่อน ผู้พูดอาจอาศัย สังเกตข้อความที่ผู้อื่นเขาพูดมาก่อนหน้าเรา (ถ้ามี) แล้วอาศัยความชัดเจน ที่มีอยู่ในตัวเป็นวัตถุดิบ ในการพูด (ถ้าหากว่าผู้พูดเคยมีความรู้ และประสบการณ์ เกี่ยวกับการพูด ในที่ชุมชนมาแล้ว ย่อมเป็นของง่ายที่จะพูดแบบนี้ โดยฉับพลันทันใด) ซึ่งผู้พูดจะต้องมองถึงหัวข้อเรื่องที่จะพูดในรูปโครงเรื่องย่อเสียก่อน และเข้าใจวัตถุประสงค์พิเศษของการพูดในครั้งนั้นๆ จากกนั้นจึง คิดหาตัวอย่าง คำคม หรือสุภาษิต เพื่อนำมากล่าวนำ แล้วรวบรวมเหตุผล และตัวอย่างประกอบ (เนื้อเรื่อง) เพื่อหาข้อยุติก่อนการพูด ผู้พูดจะต้องพยายามสงบระงับความกระวนกระวายใจ ทำจิตใจให้สบาย ระงับความตื่นเต้นโดยการหายใจเข้าออกช้าๆ หลายๆ ครั้ง พอเริ่มพูดจะต้องเพ่งพินิจแต่เฉพาะเรื่องที่กำลังพูดอยู่เท่านั้น การรวมจิตใจเพ่งพินิจแต่เฉพาะเรื่องที่จะพูดเช่นนี้ จะทำให้สามารถควบคุม ความตื่นเต้นของตนเองได้
สำหรับแนวทางในการกำหนดเนื้อเรื่องประกอบ ในการพูดแบบไม่มีการเตรียมตัวนั้น ผู้พูดอาจเลือกใช้แนวใดแนวหนึ่งดังนี้
ตัวอย่างการพูดแบบไม่มีการเตรียมตัว
ตัวอย่างที่ ๑ เมื่อได้รับเชิญให้กล่าวอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ (ในฐานะประธานบริษัท)
ท่านผู้มีเกียรติ และเพื่อร่วมงานที่รักทั้งหลาย
ในนามของบริษัทฯ ผมมีความรู้สึกชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นเพื่อร่วมงานมาร่วมสนุกสนานกันอย่างเต็มที เนื่องในโอกาส ฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในวันนี้ ทุกปีที่ผ่านมาเราถือว่าวันนี้เป็นวันแห่งความรัก และความสามัคคีเพราะพนักงานทุกระดับ จะได้มีโอกาสมาสังสรรค์ และร่วมสนุกสนานกัน หลังจากที่เราได้เหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งปี
ความก้าวหน้าของบริษัทเรา นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน ในปีนี้ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า กิจการของบริษัทเรา ได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะสินค้าของเราได้รับการยอมรับ และการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งผมเองในฐานะ ประธานกรรมการ ของบริษัท ก็มีนโยบายในการขยายงานของบริษัทออกไผสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น มีการเร่งผลิตให้เพื่อสูงขึ้น ทั้งในด้านปริมาณ และ คุณภาพ ให้สินค้าของเราเป็นที่นิยมของ ประชาชนอย่างกว้างขวาง
ความสำเร็จของการดำเนินงานตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมานั้น มาจากการทุ่มเทเสียสละ ในการทำงานของเพื่อนพนักงาน และท่านผู้บริหาร ทุกท่าน ดังนั้นเพื่อตอบแทนในการเสียสละที่เพื่อนพนักงาน และท่านผู้บริหารทุกท่านได้ทุ่มเทให้กับบริษัท ทางบริษัทของเราก็จะมีการปรับเงินเดือน ของพนักงานทุกระดับชั้นให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการปรับปรุงด้านสวัสดิการให้ดีขึ้นด้วย
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้เพื่อพนักงานทุกท่าน จงประสบความสำเร็จ ความสุข ความเจริญตลอดไป ไชโย! ไชโย! ไชโย!
ตัวอย่างที่ ๒ เมื่อกล่าวอวยพรคู่สมรส
ท่านผู้มีเกียรติ เพื่อเจ้าบ่าว และเพื่อเจ้าสาว
ผมรู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป้นอย่างยิ่ง ที่ท่านเจ้าภาพได้มอบหมายให้ผมมาเป็นผู้กล่าวอวยพรคู่สมรสในครั้งนี้
คู่สมรส คือ คุณวิภาพักตร์ และคุณรัตนพล นับว่าเป็นคู่สมรสที่น่ารัก และเหมาะสมกันมากที่สุดคู่หนึ่ง ผมรู้จักท่านสองท่านมานานแล้ว และรู้จักเป็นอย่างดีเพราะทั้งสองท่าน เป็นลูกน้องของผมเอง ผมได้แอบสังเกตอย่างเงียบๆ มานานแล้วว่า ทั้งคู่มีความสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ แต่ก็คิดว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นเพื่อนร่วมงาน จนถึงวันนี้ทั้งคู่มาพบผม และบอกให้ผมทราบว่ากำลังจะแต่งงานกันแล้ว ซึ่งทำให้ผมรู้สึกดีใจ เป็นอย่างยิ่ง
ในโอกาสอันดีนี้ ผมอยากจะฝากข้อคิดสำหรับคู่สมรสว่า ชีวิตสมรสจะราบรื่นได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีความอดทน เพราะแม้นลิ้นกับฟัน ก็ยังมีวันกระทบกันได้ สามี และภรรยาก็เช่นเดียวกัน หนักนิดเบาหน่อยก็ต้องให้อภัยกัน ชีวิตคู่จะมีความสุข และความเจริญก้าวหน้า ถ้าทั้งคู่อยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีความซื่อสัตย์ รู้จักวิธีถนอมน้ำใจกัน มีวาจาไพเราะต่อกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ขยันทำมาหากิน และรู้จักเก็บหอมรอมริบ ผมก็คิดว่าชีวิตนี้จะต้องมีความสุขตามอัตภาพอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดนี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้คู่บ่าวสาวประสบแต่ความสุขความเจริญในชีวิต และรักกันตราบชั่วนิรันดร์ ไชโย! ไชโย! ไชโย!
๒. การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ (Manuscript Speech)
การพูดแบบนี้ผู้พูดจะเขียนข้อความที่จะพูดลงไปในต้นฉบับ แล้วเมื่อถึงสถานการณ์การพูดจริง ผู้พูดก็จะนำต้นฉบับนั้นมาอ่านให้ผู้ฟัง ได้รับฟังอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้มักใช้ในสถานการณ์การพูดทีเป็นทางการมาก ๆ เช่น ในการกล่าวรายงานทางวิชาการการกล่าวเปิดงาน การกล่าวเปิดประชุม การสรุปผลการประชุม การอ่านข่าวหรือบทความทางวิทยุ-โทรทัศน์ ที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว การกล่าวตอบโต้ในพิธีต่างๆ หรือการกล่าวแถลง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าว ต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งถือกันว่าควรใช้วิธีการอ่านมากกว่าการพูดสด แต่ถ้าหากเป็น สถานการณ์ การพูดโดยทั่วไปเป็นทางการหรือ เป็นทางการไม่มากแล้ว ไม่ควรใช้วิธีนี้ เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้ผู้ฟัง รู้สึกเบื่อหน่าย และหมดความรู้สึกสนใจในตัวผู้พูด อันเนื่องมาจากการที่ผู้พูดต้อง ละสายตามาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา ทำให้ขาดการติดต่อสื่อสาร ทางสายตากับผู้ฟัง และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ หรืออาจเรียกว่า อ่านให้ฟัง จะทำให้ผู้พูด ขาดลีลาน้ำเสียง อันมีชีวิตชีวา และบุคลิกภาพอันเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้นผู้ฟังส่วนใหญ่มักไม่ชอบการพูดแบบนี้ เนื่องจากผู้ฟังมักคิดว่าผู้พูด คงไม่เข้าใจถ่องแท้ในเรื่องที่พูดหรืออาจจะไม่ได้เขียนต้นฉบับด้วยตนองก็ได้
สำหรับประโยชน์ของการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับอยู่ที่ว่าผู้พูดสามารถพูดในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีข้อผิดพลาด อันเนื่องมาจาก การหลงลืม ความตื่นเต้น ความประหม่า ความสับสน หรืออื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพูดแบบเป็นทางการมาก ๆ หรือการพูดต่อหน้าพระพักตร์ เนื่องจากว่าภาษาพูด ที่เขียนไว้อย่างสมบูรณ์แบบในต้นฉบับ ย่อมสามารถเขียนได้ ไพเราะสละสลวย และมีน้ำหนักมากกว่าการพูดแบบ ปากเปล่า และจะช่วยให้ผู้พูด เกิดความรู้สึกปลอดภัย จากการพุดที่ผิดพลาด
ส่วนวิธีการเขียนต้นฉบับ (Manuscript) เพื่อการพูดแบบนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุดนั้น ก่อนการเขียนต้นฉบับผู้พูด ต้องเตรียมจัดทำ โครงเรื่องเสียก่อน ครั้นวางโครงเรื่อง ได้สมบูรณ์แล้วผู้พูดจึงเขียนต้นฉบับการพูดลงไปทุกคำพูด ดุจเดียวกับเวลาพุดกับเพื่อนๆ เมื่อเขียนต้นฉบับจบแล้ว ต้นฉบับนั้นยังไม่ถือว่า เป็นต้นฉบับที่สมบูรณ์ ยังเป็นเพียงการร่างครั้งแรกเท่านั้น ผู้พูดต้องอ่านทบทวนร่างนั้นหลายๆ ครั้งแล้วแก้ไข สำนวน ลีลา น้ำหนักคำ และรูปประโยคโดยละเอียด จนเกิดความแน่ใจว่าสิ่งที่เขียนไว้นั้น ถูกต้องตรงกับสิ่งที่เขาประสงค์จะพูด ทุกประการ
แม้นว่าจะแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งจนผู้พูดเกิดความรู้สึกพอใจในต้นฉบับของเขาแล้วก็ตาม ผู้พูดกูควรจะทดสอบ ต้นฉบับของเขา เป็นครั้งสุดท้าย โดยการอ่าน ต้นฉบับดังกล่าว ให้ผู้ร่วมคณะหรือเพื่อบางคนฟัง (หากหาคนฟังไม่ได้อาจอ่านออกเสียงดังๆ ให้ตนเองฟังเพียงลำพัง คนเดียวก็ได้) การทดสอบแบบนี้จะช่วยให้การแก้ไขต้นฉบับการพุดครบถ้วยสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อได้ต้นฉบับการพูดที่สมบูรณ์แบบตามที่ปรารถนาแล้ว ผู้พูดควรพิมพ์ต้นฉบับโดยใช้กระดาษพิมพ์อย่างหนา ระวังอย่าให้คำผิดพลาด ปรากฏ ต้นฉบับพิมพ์ควรสะอาด เนื้อเรื่องควรพิมพ์เป็นตอนสั้น ๆ ข้อความแต่ละตอนต้องจบในหน้าเดียวกันไม่ควรต่อไปหน้าอื่น ริมกระดาษซ้ายมือควรเว้นว่างประมาณ ๓ นิ้ว พิมพ์เลขหน้าทุกหน้าตามลำดับ หมายเลขขอบขวาด้วนบนเพื่อป้องกันการสลับหน้าผิด ควรใช้ลวดเย็บต้นฉบับรวมกันเพื่อป้องกันการหลุด และสูญหาย
เวลาอ่านต้นฉบับผู้พูด ต้องอ่านโดยใช้เสียงที่เหมือนกับเสียงพูดปกติ เพราะแม้นว่าผู้พูดจะเขียนข้อความด้วยคำพูดของตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าเวลาเขาจะอ่านออกเสียงดุจเสียงพูดตามธรรมชาติของเขาหรือไม่ ดังนั้นเขาควรพยายามที่จะ แสดงพฤติกรรมทุกประการ นับตั้งแต่การแสดงออกทาง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ให้กลมกลืนกับเรื่องที่อ่านมากที่สุด
ดังที่กล่าวแล้วว่าการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับนี้ จะทำให้ผู้พูดไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางสายตา กับผู้ฟังได้ อันเนื่องจากผู้พูด ต้องละสายตาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา แต่ผู้พูดก็อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยช่วงเวลาที่หยุดเว้นระยะในการพูด ก่อนที่จะอ่าน ข้อความต่อไป ผู้พูดควรเงยหน้าขึ้น มองผู้ฟังก่อนแล้วจึงอ่านต่อไป การกระทำเช่นนี้สำหรับคนเริ่มต้นฝึกหัดใหม่ๆ นับว่ายากมาก แต่เมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วจะเกิดความชำนาญจนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ตัวอย่างการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ
ตัวอย่างที่ ๑
คำกล่าวรายงานการจัดการสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคม
ในวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
โดย
ดร. จันทร์ วงษ์ขมทอง
ประธานกรรมการวิชาการ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชาแห่งประเทศไทย
กราบเรียน ท่านประธาน
ในนามของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ใคร่ขอแสดงความขอบคุณ ฯพณฯ องคมนตรี ที่ได้ให้เกียรติ และสละเวลาอันมีค่าของท่านมาเป็นประธานการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคม ในวันนี้เป็นอย่างยิ่ง
ดิฉันใคร่ขอกราบเรียนถึงหลักการ เหตุผล ของการจัดสัมมนา ซึ่งเป็นเรื่องของสังคม และประเทศชาติโดยตรง เป็นเรื่องที่ ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าประเทศของเรามีปัญหาที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาแรงงาน อันเกิดจากความด้อยประสิทธิภาพ ของการจัดการบริหาร ทำให้ครอบครัวขนบทซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาล่มสลาย ส่วนชุมชนในเมืองใหญ่ ก็เต็มไปด้วย ธุรกิจทางเพศ การล่อลวงเด็กหญิงเพื่อการค้าประเวณี และปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค ยาบ้า อาชญากรรมแทบทุกรูปแบบ ความตาย และความสูญเสียทรัพย์สิน จากการจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม และการทำลายแหล่งน้ำโดย โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนส่วนหนึ่ง การจราจรติดขัดก่อให้เกิดผลทางลบคิดเป็นมูลค่าความสูญหายอย่างมหาศาล มีการตัดไม้ทำลายป่า จนเหลือป่า เพียงร้อยละ ๑๘ ค่าแรงสำคัญมีราคาสูงกระทบต่อการผลิตสินค้า และการส่งออก การสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนา ไม่มีคุณภาพ และไม่เพียงพอ เป็นวิกฤตการทางสังคมซึ่งหลายฝ่ายได้พยายามแก้ไขแต่ก็ไร้ผล จนทำให้คณะกรรมการ พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กำหนดแผน และเป้าหมายการพัฒนาสังคมใหม่
การสัมมนาในวันนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะหาข้อเสนอแนะจากผู้เข้าสัมมนาซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้าน อุดมศึกษา และการพัฒนาในการหาแนวทางแก้ไข และวิธีการพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามนโยบายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘
การสัมมนาจะเป็นการอภิปรายทั้งวัน โดยช่วงเช้าจะเป็นเรื่องสภาพปัญหา และบทบาทสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัยกาเยาวชน และสวัสดิการตามความมั่นคงแห่งชาติ และสิ่งเสพติด
สำหรับช่วงบ่าย เป็นเรื่องของสุขภาพอานามัย ปัญหาศีลธรรมทางเพศ และอุบัติภัย และมลพิษสิ่งแวดล้อม
บัดนี้ได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์แล้ว ดิฉันใคร่ของกราบเรียนเชิญท่านประธานได้กระทำพิธีเปิดการสัมมนา และกล่าวปราศรัย เพื่อเป็นสิริมงคล ขวัญกำลังใจ และแนวทางการสัมมนาให้บรรลุวัตถุประสงค์
ขอกราบเรียนเชิญท่านประธาน
ตัวอย่างที่ ๒
คำกล่าวเปิดการสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง บทบาทของการสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤติทางสังคม
วันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
ฯพณฯ ดร.อำพล เสนาณรงค์
องคมนตรี
ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนา และท่านแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน
กระผมรู้สึกมีความยินดี และ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งทางสมาคม สถาบันอุดมศึกษาเอกชน แห่งประเทศไทย และทบวงมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในวันนี้ กระผมเห็นด้วยกับรายงานของท่านประธานกรรมการ ฝ่ายวิชาการของสมาคม ที่ได้กล่าวว่าสังคมของเรากำลังประสบกับปัญหา ในระดับที่รุนแรงน่าวิกนยิ่ง ท่านทั้งหลายคงทราบดีว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน
และประชาชนไม่น้อยได้พยายามที่จะคลี่คลายปัญหา และการจัดเตรียมแผนการทำงานใหม่ให้มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จนทำให้รู้สึกว่ายิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำให้สังคมของเราเสื่อมลง จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย และควรทำการวิจัยศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาของเรามีปัญหา และหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไร สังคมของเราจึงจะเป็นสังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน
กระผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยของไทยเรามีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๔ ประการ ซึ่งได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสังคม และการรักษาจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยได้บรรลุเป้าหมายพอสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดให้มี การประกันคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ คงมีความเห็นพ้องกันว่าความก้าวหน้าของ การพัฒนาสังคมโดย มุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ชีวิตของคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ของแผนพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมฉบับที่ ๘ นั้นย่อมขึ้นกับ ตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญหลายอย่าง กระผมตระหนักดีว่า การศึกษาเป็นปัจจัย และ ขบวนการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงได้ หมายความว่า เราจะต้องใช้สาระทางวิชาการ และขบวนการทางการศึกษา ที่จะทำให้เด็ก และเยาวชนได้รู้ได้เข้าใจสาระ ความเป็นจริงของแก่นสาร ของชีวิตรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติ และสามารถใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามีก็จะเป็นการสูญเสียเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามค้นคว้าหาสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่กำลังจะหมดไป และเป็นสิ่งที่ มีราคาค่าใช้จ่าย น้อยลง เพื่อให้เกิดการสมดุล การที่เราจำเป็นจะต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะคนเรากับธรรมชาติแยกกันไม่ได้ ต้องมีลักษณะ พึ่งพาซึ่งกัน และกัน นั่นหมายความว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็คือการทำลายตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งเกิดปัญหา หลายประการ ดังที่สมาคม ได้กล่าวถึง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้ ผมขอกล่าวเพิ่มเติม อีกเล็กน้อยว่าการจัดการการศึกษาที่ดีที่เหมาะสม จะต้องกระทำในทุกระดับโดยเฉพาะในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปรียบเสมือน การปลูกต้นไม้ หากการเตรียมดิน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาต้นไม้ ไม่ดีไม่ถูกต้อง เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์ จากการปลูกต้นไม่นั้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นผลร้ายด้วยซ้ำไป ดังนั้นการที่เรา จะปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจัดการ พัฒนาให้ถูกต้อง มาตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นปัญหาของสังคมดังที่ปรากฏอยู่
ดังนั้นในการสัมมนาในวันนี้ ท่านทั้งหลายคงจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ในเรื่องบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ในการแก้ปัญหา วิกฤติทางสังคม เพื่อเป็นพื้นฐาน และแนวทางในการแก้ปัญหาหาต่อไป กระผมมั่นใจว่าผลการสัมมนาครั้งนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ตั้งไว้ทุกประการ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกระผมของเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ในการแก้ปัญหาวิกฤติ ทางสังคม ณ บัดนี้ ขออวยพรให้การสัมมนา จงดำเนินไปด้วยดีได้ผลสมปรารถนาอัน จะเป็นประโยชน์ต่อ การแก้ปัญหา วิกฤติทางสังคม และเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ที่จะทำให้ประเทศของเราบรรลุขั้นการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป และขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน
ขอขอบคุณ
๓. การพูดแบบพูดจากการท่องจำ (Memorized Speech)
ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้ว การพูดแบบนี้ถือเป็นการ ท่อง มากกว่า เพราะเกิดจาการท่องจำถ้อยคำที่เขียนไว้เป็นต้นฉบับสมบูรณ์ (Manuscript) หรือท่องจำแบบคำต่อคำนั่นเอง ถ้าจะวิเคราะห์คุณค่าทางวาทศาสตร์หรือศาสตร์แห่งการพูดแล้วการพูดแบบนี้มีคุณค่าน้อย การพูดแบบนี้นักพูดไม่นิยมใช้กันเพราะเป็นรากฐานที่จะทำให้ผู้พูด เกิดความกังวลใจ และความเคร่งเครียด อันเนื่องมาจาก ผู้พูดก็ไม่แน่ใจว่า จะจดจำคำพูดได้ทุกถ้อยคำหรือเปล่า และถ้าหากเกิดการผิดพลาด หลงลืมขึ้นมากลางคันผู้พูดก็จะเกิดความระหม่า และอาจไม่สามารถแก้ปัญหา เฉพาะหน้าได้ หรือแม้แต่เกิดการผิดพลาดขึ้นผู้ฟังจับได้ว่าเป็นการ ท่อง เพระเสียงของผู้พูดจะราบเรียบเป็นทำนองเดียว (Monotonous) สายตาก็อาจจะไม่มองผู้ฟัง ท่าทางประกอบก็อาจจะไม่มีทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่าย และขาดความเชื่อถือต่อผู้พูดขึ้นได้
ดังนั้นผู้พูดที่จึงควรหลีกเลี่ยงการพูดแบบท่องจำต้นฉบับทั้งหมด แต่อาจใช้วิธีการท่องจำเพียงเล็กน้อยหรือเพียงบางส่วน (Quotation) เท่านั้น จะดีกว่า
๔. การพูดแบบพูดโดยการเตรียมตัวหรือการพูดจากความเข้าใจ (Extemporaneous Speech)
เป็นการพูดจากใจ จากภูมิรู้ และจากความรู้สึกจริง ๆ ของผู้พูดเอง เป็นการพูดที่นิยมใช้กันมากที่สุดเพราะมีข้อดีหลายประการ คือ
- เป็นตัวของตัวเอง
- พรั่งพรู
- เป็นธรรมชาติ
- เร้าใจ
- จริงใจ
- แสดงภูมิรู้ของตนเอง
- ยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับเวลาได้
- ตอบปัญหาผู้ฟัง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ซึ่งก่อนการพูดแบบนี้ผู้พูดต้องเตรียมตัวในการคัดเลือกหัวข้อเรื่อง ค้นหาเนื้อเรื่อง แนวคิด และตัวอย่าง จากนั้นเรียบเรียงเนื้อเรื่อง แนวคิด และตัวอย่างให้สมบูรณ์ และอ่านให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเตรียมตัว ดังนี้
๑. ขั้นเตรียมตัวทั่วไป ได้แก่ การที่ผู้พูดพยายามหาความรู้ อ่านมาก ฟังมาก เพราะผู้ที่มีความรู้กว้างขวางมักเป็นนักพูดที่ดี ความรู้ในเรื่องต่างๆ จะช่วยให้การพูดสนุกสนานน่าฟัง และช่วยสร้างศรัทธาแก่ผู้ฟังด้วย
๒. ขั้นเตรียมตัวเฉพาะคราว ได้แก่ การที่ผู้พูดเตรียมตัวพูดเฉพาะในคราวใดคราวหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนวิธีการดังนี้
๒.๑ เมื่อได้รับเชิญให้พูด ผู้พูดต้องมีวิธีการเตรียมตัวล่วงหน้าพอสมควร ถ้าสามารถเลือกเรื่องที่จะพูดเองได้ผู้พูดควรเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับตัวเอง เหมาะสมกับผู้ฟัง และเหมาะสมกับโอกาสที่จะพูดจากนั้นจึงค่อนรวบรวมเอกสารหรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด เรียก ขั้นนี้ว่าขั้นเตรียมการ (Invention)
๒.๒ เมื่อได้เอกสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดแล้ว ผู้พูดก็จะจัดเนื้อหาให้เหมาะสมว่า คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปควรจะมีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง คัดมาจากเอกสารฉบับใดบ้าง อะไรที่ไม่เหมาะสมก็ตัดทิ้งไป เรียกขั้นนี้ว่าขั้นรวบรวม (Disposition)
๒.๓ เมื่อเตรียมเนื้อเรื่องในแต่ละตอนแล้วผู้พูดจะต้องเตรียมต่อไปว่าเนื้อเรื่องในแต่ละตอนนั้น ควรจะพูดอะไรก่อนหลัง ควรใช้สำนวนโวหารอย่างไร ใช้ภาษาระดับใดจึงจะเหมาะสม กับผู้ฟัง เรียกขั้นนี้ว่าขั้นวิธีการ (Style)
๒.๔ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว เราก็จัดเรื่องที่จะพูดให้เป็นส่วนๆ โดยมีคำนำ เนื้อเรื่อง และ สรุป เรียกขั้นนี้ว่าขั้นโครงเรื่อง (Form)
๒.๕ เมื่อผู้พูดได้เรื่องที่เหมาะสมที่จะพูดแล้ว หากนำไปพูดทันทีอาจจะพบปัญหาบางอย่างได้ ดังนั้นผู้พูดจึงต้องทดลองพูดด้วยตนเองเสียก่อน เรียกขั้นนี้ว่าขั้นฝึกซ้อม (Rehearsing)
ในการพูดแบบนี้หากผู้พูดกลัวว่าจะลืมเนื้อเรื่องที่เตรียมไว้ ผู้พูดอาจบันทึกสั้นๆ นำติดตัวขึ้นไปพูดด้วย หากตอนใดผู้พูด เกิดการหลงลืมก็อาจหยิบบันทึกนั้นขึ้นมาดูเพื่อให้สามารถพูดได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน ซึ่งวิธีการบันทึก และการใช้บันทึกในเวลาพูด ผู้พูดควรปฏิบัติดังนี้
(๑) การเตรียมบันทึก
ในบันทึกนั้นจะประกอบด้วย ลำดับขั้นตอนแนวคิดที่จะเสนอต่อผู้ฟัง โดยทั่วไปมักเขียนไว้เพียงคำเดียวหรือ สองคำเท่านั้น เพื่อช่วยความจำ บันทึกที่ดีควรทำด้วยกระดาษการ์ดแข็งเพราะใช้สะดวก บนมุมกระดาษการ์ด ควรเขียน เลขกำกับบอกแผ่นไว้ เช่น ๑-๒-๓-๔ ฯลฯ
(๒) การใช้บันทึกเวลาพูด
เมื่อผู้พูดก้าวขึ้นไปยืนบนเวทีผู้พูดควรวางกระดาษไว้บนโต๊ะ หรือถือไว้ในมือในลักษณะที่ไม่เกะกะ เมื่อต้องการจะ ใช้กระดาษบันทึก ผู้พูดควรหยิบกกระดาษบันทึกมาอ่านโดยตรงหรือมิเช่นนั้นอาจจะอ่านบันทึกในลักษณะที่คนฟังไม่เห็นบันทึก คือ วางอ่านกับโต๊ะนั่นเอง อนึ่งผู้พูดอย่าไปมัวพึ่งบันทึกอย่างเดียว ก่อนการพูดผู้พูดควรทบทวนเนื้อเรื่อง หัวข้อ ขั้นตอน และแนวคิดจนจำได้ตลอด
หลักการทั่วไปในการเตรียมตัวเพื่อเป็นนักพูดที่ดี
เท่าที่ผ่านมามีนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ได้ให้หลักเกณฑ์สำหรับการฝึกฝนการพูดเอาไว้มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่งมีสารประโยชน์ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจาก เนื้อที่ในหนังสือเล่มนี้มีจำกัด ผู้เรียบรียงจึงใคร่ของนำเสนอเฉพาะหลักการฝึกฝนการพูดของนักวิชาการบางท่านที่น่าสนใจ และไม่ยุ่งยากในการทำควรเข้าใจ อาทิเช่น
๑. หลักสิบประการของสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย
๑.๑ จงเตรียมพร้อม
๑.๒ จงเชื่อมั่นในตนเอง
๑.๓ จงปรากฏตัวอย่างสง่าผ่าเผย
๑.๔ จงพูดโดยใช้เสียงอันเป็นธรรมชาติ
๑.๕ จงใช้ท่าทางประกอบการพูดให้พอเหมาะ
๑.๖ จงใช้สายตาให้เป็นผลดีต่อการพูด
๑.๗ จงใช้ภาษาที่ง่าย และสุภาพ
๑.๘ จงใช้อารมณ์ขัน
๑.๙ จงจริงใจ
๑.๑๐ จงหมั่นฝึกฝน
๒. หลักเบื้องต้นเจ็ดประการ ของ ซาเร์ทท์ และ ฟอสเตอร์
ซาเร์ทท์ (Sareet) และ ฟอสเตอร์ (Foster) ได้ให้หลักเบื้องต้น ๗ ประการสำหรับฝึกในการพูดไว้ดังต่อไปนี้
๒.๑ การพูดที่ดีมิใช่เป็นการแสดง แต่เป็นการสื่อความหมาย
๒.๒ ผลสำคัญของการพูดที่ดี ก็คือ การสร้างปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ฟังได้สำเร็จ
๒.๓ ผู้พูดที่ดีย่อมรู้จัดวิธีการต่างๆ ในการพูดเพื่อที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความใส่ใจอย่างเต็มที่เมื่อผู้พูดต้องการ
๒.๔ การพูดที่ดีต้องมีลักษณะเป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมาง่ายๆ เป็นกันเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๒.๕ ผู้พูดที่สามารถ คือ บุคคลที่สามารถเป็นผู้มีเสถียรภาพทางอารมณ์ มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง และต่อผู้ฟัง
๒.๖ การที่ผู้ฟังจะมีความรู้สึกประทับใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้พูดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะต่างๆ ในตัวผู้พูดเอง โดนเฉพาะลักษณะที่ ไม่ใคร่ปรากฏ เด่นชัด
๒.๗ อิริยาบถที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เกิดการพูดนั้น ๆ เป็นการพูดที่ดี

๓. หลักบันได ๗ ขั้นของการพูด ของ ดร.นิพนธ์ ศศิธร
ดร.นิพนธ์ ศศิธร ได้กล่าวถึงบันได ๗ ขั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งการเป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จ ดังนี้
๓.๑ การรวบรวมเนื้อหาที่จะพูด
๓.๒ การจัดระเบียบเรื่อง
๓.๓ การหาข้อความอื่นๆ มาประกอบหรือขยายความออกไป
๓.๔ การเตรียมอารัมภบทหรือบทนำ
๓.๕ การเตรียมบทสรุป
๓.๖ การซักซ้อมการพูด
๓.๗ การแสดงการพูด
ซึ่งบันไดทั้ง ๗ ขั้นของการพูดข้างต้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ผู้เรียบเรียงจึงขอสรุป และเรียบเรียงมาไว้ ให้เห็นพอสังเขปดังนี้
บันไดขั้นที่หนึ่ง : การรวบรวมเนื้อหาสาระที่จะพูด
ความสำเร็จในการพูดอยู่ที่การผสมกลมกลืนอย่างแนบสนิทระหว่างความรู้สึก และเหตุผล ดังนั้น การเตรียมตัวที่ดี จึงควรเริ่มต้นจากข้อกำหนด และความคิดเห็นของผู้พูดเสียก่อน แล้วเอาสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นโครงร่างไว้ จากนั้นจึงค้นคว้าหาข้อเท็จจริงอื่นๆ มาประกอบให้สมบูรณ์ต่อไป
บันไดขั้นที่ ๑ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
๑. เริ่มต้นด้วยความคิดก่อนว่าในเรื่องที่จะพูดก่อนนั้นมีเนื้อหาอะไรบ้างที่รู้ดีอยู่แล้ว และยังมีอะไรอีกบ้างที่ยังไม่รู้ และจะต้องค้นคว้าต่อไป
๒. รวบรวมเนื้อหาจากการสังเกตการณ์ การสังเกตการณ์ที่ดีจะต้องกระทำด้วยตนเองโดยตรงอย่างครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำ และปราศจากความลำเอียง ต้องสามารถแยกจุดเด่นจากการสังเกตการณ์ที่ได้มาให้ได้
๓. รวบรวมเนื้อหาจากการติดต่อกับบุคคลอื่น โดยการสนทนา การสัมภาษณ์ หรือการติดต่อทางจดหมาย แต่ละอย่างก็มีหลักเกณฑ์โดยเฉพาะออกไปอีก ซึ่งจะไม่กล่าวไว้ ณ ที่นี้
๔. รวบรวมเนื้อหาจากการอ่าน ต้องอ่านให้เป็นไม่ใช้ตะลุยอ่านไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์จะเสียเวลาโดยไม่มีประโยชน์
บันไดขั้นที่สอง : การจัดระเบียบเรื่อง
บันไดขั้นที่ ๒ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
๑. การเขียนโครงเรื่อง เพื่อเป็นหลักในการดำเนินการขยายความเพิ่มเติมต่อไป อย่างมีระเบียบ และมีความต่อเนื่องกัน โดยการรวบรวม และแบ่งแยกแนวความคิดใหญ่ ๆ ออกเป็นหมวดหมู่เป็นข้อย่อย ๆ ลดหลั่นกันไป
๒. การจัดระเบียบเนื้อเรื่องที่จะพูด เป็นการเลือกใจความสำคัญของเรื่อง จดบันทึกแล้วแยกแยะ ให้เข้าหมวดหมู่ ตามความเหมาะสมต่อไป มี ๖ แบบให้เลือกกระทำดังนี้
๒.๑ เรียงตามลำดับเวลา
๒.๒ เรียงตามลำดับสถานที่
๒.๓ เรียงตามลำดับเรื่อง
๒.๔ แบบเสนอปัญหา และวิธีแก้
๒.๕ แบบแสดงเหตุ และผล
๒.๖ แบบเสนอเป็นข้อเท็จจริง
แบบต่างๆ ทั้ง ๖ แบบที่กล่าวนี้ อาจเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบผสมกันไปก็ได้
บันไดขั้นที่สาม : การหาข้อความอื่น ๆ มาประกอบหรือขยายความออกไป
มีหลักในการปฏิบัติดังนี้
๑. หารูปแบบของการขยายความ โดยอาจใช้วิธีการดังนี้
๑.๑ โดยการยกอุทาหรณ์หรือตัวอย่าง
๑.๒ โดยการใช้สติ
๑.๓ โดยการเปรียบเทียบหรืออุปมา
๑.๔ โดยการอ้างอิงคำพูดหรือคำกล่าวของบุคคลอื่นที่มีน้ำหนักในเรื่องนั้นๆ
๑.๕ โดยการกล่าวซ้ำหรือย้ำโดยเปลี่ยนวิธีการพูดใหม่
๑.๖ โดยการอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างแจ้ง
๑.๗ โดยการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา
๒. การใช้ทัศนูปกรณ์กระกอบ ต้องใช้เหมาะสม ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ หรือเบี่ยงเบนความสนใจ ของผู้ฟังออกไป จากเรื่องที่พูดนั้น
๓. ข้อความที่จะนำมาขยายหรือประกอบนั้น จะต้องเสริมสร้างความสนใจของผู้ฟังให้ตั้งใจฟังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเรื่องหรือ ข้อความที่ยกมาจะต้องมีลักษณะดังนี้
๓.๑ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือความเป็นอยู่ของผู้ฟังมากที่สุด
๓.๒ ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพหรือเข้าใจชัดเจนจริง ๆ
๓.๓ เป็นเรื่องที่สำคัญหรือโดดเด่น
๓.๔ ไม่ทำให้ผู้ฟังเปลี่ยนความสนใจ หรือเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ฟังไปในทางที่ไม่ต้องการ
๓.๕ ถ้าเป็นเรื่องขำขัน ต้องสุภาพ ไม่ก้าวร้าวผู้ฟัง และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องไม่ใช่ออกนอกเรื่อง
บันไดขั้นที่สี่ : การเตรียมอารัมภบทหรือบทนำ
มีหลักในการปฏิบัติดังนี้
๑. การใช้ คำนำ เพื่อเรียกร้องให้เกิดความสนใจมีความสำคัญมากที่สุด การเรียกร้องให้เกิดความสนใจ อาจกระทำได้ โดยวิธีการต่างๆ ดังเช่น
๑.๑ เน้นถึงความสำคัญของเรื่องที่จะพูด
๑.๒ ใช้เรื่องหรือคำพูดที่คำขัน แต่อย่าใช้มากจนทำให้ผู้พูดเป็นตัวตลกจนเกินไป
๑.๓ ยกอุทาหรณ์ที่ตรงกับเรื่องหรือไม่ออกนอกเรื่อง
๑.๔ เริ่มด้วยการยกข้อความหรือคำพูดที่ก่อให้เกิดความตื่นใจ ซึ้งใจ หรือไพเราะ
๑.๕ กล่าวถึงความรู้สึก ความเชื่อถือ ผลประโยชน์ หรือความเป็นอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่ศัตรูกัน
๑.๖ กล่าวนำด้วยการตั้งปัญหาที่เร้าใจ
๑.๗ ใช้คำพูดที่เร้าใจ หรือไพเราะน่าสนใจ
๑.๘ กล่าวสรรเสริญยกย่องผู้ฟัง
๒. การทำให้เรื่องกระจ่างขึ้น
๒.๑ กล่าวถึงจุดใหญ่ ๆ ที่จะพูด
๒.๒ กล่าวถึงหัวข้อเรื่องที่สำคัญ
๒.๓ พรรณนาถึงเบื้องหลังหรือประวัติของเรื่องนั้น ๆ
๓. ข้อที่ไม่ควรกระทำ
๓.๑ ออกตัวหรือขอโทษว่าเตรียมตัวมาไม่พอ หรือมีความรู้ไม่ดีพอ
๓.๒ พูดเยิ่นเย้อวกวนไปมา
๓.๓ พูดจาเป็นเชิงดุแคลนผู้ฟัง
๓.๔ พูดออกนอกเรื่อง
บันไดขั้นที่ห้า :
การเตรียมบทสรุป
ประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๆ ดังนี้
๑. ย้ำใหม่เพื่อให้ข้าใจชัดแจ้งอย่างย่อ ๆ
๑.๑ กล่าวถึงข้อใหญ่ใจความของเรื่องทั้งหมด
๑.๒ เรียงลำดับหัวข้อความคิดที่ได้กล่าวมาแล้ว
๑.๓ อธิบายทบทวน
๒. เร้าใจให้เกิดผลตามที่ต้องการ
๒.๑ ใช้เฉพาะการพูดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจูงใจผู้ฟังเท่านั้น
๒.๒ แสดงให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ฟังทำอะไร
๒.๓ จะต้องชักจูงทั้งอารมณ์ และเชาวน์ปัญญาของผู้ฟัง
๓. ข้อที่ควรหลีกเลี่ยงในการสรุป
๓.๑ ขอโทษว่าเตรียมตัวมาไม่พอ หรือมีความรู้ไม่ดีพอ
๓.๒ สรุปสั้นเกินไป หรือเยิ่นเย้อเกินไป
๓.๓ เสนอความคิดใหม่ที่สำคัญขึ้นมา
๓.๔ พูดออกนอกเรื่อง
๓.๕ ทำให้ผู้ฟังขาดความสนใจ
บันไดขั้นที่หก : การซักซ้อมการพูด
มีความสำคัญมาก เพราะทำให้ผู้พูดจำเนื้อหาที่จะพูดได้ ไม่ประหม่า และมีท่าทางเป็นธรรมชาตอมากยิ่งขึ้น ในขั้นนี้ผู้พูดต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
๑. ซ้อมที่ไหน
๒. ซ้อมเมื่อไร
๓. ซ้อมอย่างไร แบ่งออกเป็น
๓.๑ กำหนดการพูด น้ำเสียง และท่าทาง
๓.๒ ปรับปรุงถ้อยคำให้สละสลวย
บันไดขั้นที่เจ็ด : การแสดงการพูด
แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน
ส่วนที่ ๑ หลักการทั่วไป
๑. หลักการทั่วไปสำหรับการแสดงการพูด มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
๑.๑ พูดให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ และเข้าใจชัดแจ้ง
๑.๒ พูดให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งหมด
๑.๓ พูดจากใจจริง
๑.๔ สุภาพ ไม่อวดอ้าง
๑.๕ มีความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผุ้ฟัง
๑.๖ ไม่ทำให้ผู้ฟังหลงเพลินแต่เฉพาะน้ำเสียงหรือท่าทางเท่านั้น
๑.๗ มีชีวิตชีวา
ส่วนที่ ๒ การใช้กิริยาท่าทางประกอบ
การใช้กิริยาท่าทางประกอบ มีความสำคัญเนื่องจาก
๑. ช่วยให้ปรับตัวเป็นปกติได้ดีขึ้น
๒. ช่วยกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ
๓. ช่วยให้แสดงความหมายได้ชัดเจนขึ้น
๔. ช่วยในการเน้นหนักต่างๆ
๔. หลักชัยแห่งการพูดของ เดล คาร์เนกี
๔.๑ จงทำให้เรื่องที่พูดชัดเจนจนแจ่มกระจ่าง
๔.๒ จงทำให้เรื่องที่พูดสนุกสนาน และไม่น่าเบื่อ
๔.๓ จงพูดโน้มน้าว และชักชวนจนทำให้เกิดการปฏิบัติ
๔.๔ จงทำให้การพูดประทับใจผู้ฟัง
ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติในการฝึกฝนการพูด
มีนักพูด และนักวิชาการหลายท่านได้เสนอแนะวิธีการฝึกฝนการพูดเอาไว้ คล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้าง ยกตัวอย่างให้ศึกษา และเปรียบเทียบกัน เพียง ๓ ท่าน คือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข และเพียรศักย์ ศรีทอง ซึ่งแต่ละท่านก็ได้เสนอแนะวิธีการ ในการฝึกฝนการพูดเอาไว้ แตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้เราได้รับความรู้ในการพัฒนาตนเองอย่างกว้างขวาง ท่านแรกที่จะกล่าวถึงคือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝน การพูดว่า สารถกระทำได้ ๓ วิธี คือ
๑. การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ
๒. การฝึกพูดจากตำรา
๓. การฝึกพูดโดยผู้แนะนำ
ซึ่งแต่ละวิธีพอสรุปได้ดังนี้
วิธีแรก การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ หมายถึง การฝึกฝนด้วยตนเอง ผู้พูดต้องชอบพูดชอบแสดงออก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ให้มี ชั่วโมงบิน มาก ๆ ก็อาจกลายเป็นนักพูดที่ดีได้ ยิ่งถ้ามีปฏิญาณไหวพริบดีด้วยก็อาจจะจับหนทางได้เร็ว และประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
วิธีที่สอง การฝึกพูดจากตำรา โดยอาศัยตำราซึ่งมีผู้เขียนไว้มากมายทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ผู้พูดสามารถเลือกอ่าน ศึกษาได้ตามใจชอบ ที่สำคัญผู้ที่ศึกษาจากตำรานั้นต้องหาโอกาสฝึกปฏิบัติจริง ๆ โดยอาจฝึกจากงานสังคมต่าง ๆ หรือฝึกในงานอาชีพของตนเองก็ได้ โดยถ้านำความรู้ และ เทคนิคใหม่ ๆ จากตำรามาใช้ประกอบด้วยก็จะทำให้เก่งเร็วขึ้น
วิธีสุดท้าย การฝึกพูดโดยมีผู้แนะนำ หมายถึง การมีพี่เลี้ยงดี ๆ คอยให้คำแนะนำ อาจจะเป็นการแนะนำซักซ้อมให้เป็นการส่วนตัว เป็นครั้งคราว หรือจัดกลุ่มฝึกพูดขึ้น โดยมีการฝึกฝนกันเป็นประจำก็ได้
ท่านต่อไป คือ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝนการพูดไว้อย่างละเอียดว่าสมารถกระทำได้ ๒ วิธีคือ
๑. การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
๒. การฝึกพูดแบบเป็นทางการ
ซึ่งแต่ละวิธีผู้เรียบเรียงใคร่ของนำเสนอไว้พอสังเขป ดังนี้
วิธีแรก การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การฝึกพูดที่มิได้จัดเป็นรูปแบบที่แน่นอน ซึ่งได้แก่ การฝึกพูดด้วยตนเอง การฝึกพุดเช่นนี้ ผู้พูดต้องอาศัย ความอดทนอย่างยอดเยี่ยมประกอบกับความตั้งใจจริงเป็นพลังอันสำคัญ ข้อแนะนำสำหรับการฝึกพูด แบบไม่เป็นทางการ หรือการฝึกพูดด้วยตนเองนั้น มีลำดับขั้นในการปฏิบัติดังนี้
๑. จงเป็นนักอ่านที่ดี โดยการอ่านตำรา และข้อแนะนำการพูดให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้
๒. จงเป็นนักฟังที่ดี โดยการติดตามฟังการพูดในทุกโอกาสให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งการพูดของนักพูดที่มีชื่อเสียง และนักพูดทั่ว ๆ ไปแล้วพยายามวิเคราะห์ว่าสิ่งใดที่ผู้พูดทำได้เหมาะสมหรือสิ่งใดไม่ควรทำ
๓. จงใช้เครื่องบันทึกเสียงให้เป็นประโยชน์ โดยการบันทึกการพูดที่ดีเอาไว้ แล้วเปิดฟังให้บ่อยที่สุดจนจำได้ขึ้นใจว่าตอนใดเป็นตอนที่ดีที่สุด ตอนใดเด่น ตอนใดด้อย เพราะเหตุใด
๔. จงบันทึกเสียงพูดของท่าน โดยการบันทึกทั้งการพูดในที่ชุมนุมชน และการพูดคนเดียว แล้วเปิดฟังบ่อย ๆ ให้ขึ้นใจว่าตอนใดว่าด้อย ตอนใดเด่น เพราะเหตุใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเดียวกัน จงบันทึก และฟังเสียงของท่านเองหลาย ๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องให้ได้
๕. จงพยายามหาโอกาสฝึกพูดต่อหน้ากระจกเงา โดยการพูดแลฝึกฝนการใช้ท่าทางประกอบโดยไม่กระดากอายหรือเคอะเขิน เพราะวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง
๖. จงเริ่มฝึกหัดด้วยความมุ่งมั่นจากง่ายไปหายามเป็นลำดับ ดังนี้
๖.๑ การพูดให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นรูปธรรม
๖.๒ การพูดอธิบายคำพังเพยหรือภาษิต
๖.๓ การพูดเพื่อให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นนามธรรม
๖.๔ การพูดเพื่อให้เหตุผลสนับสนุน
๖.๕ การพูดเพื่อให้เหตุผลคัดค้าน
๖.๖ การพูดในเชิงอภิปรายหรือวิจารณ์
๗. จงฝึกเขียนประกอบการฝึกพูด โดยการร่างประกอบให้ครอบคลุมสิ่งที่พูดไว้ทั้งหมดแล้วอ่านซ้ำหลาย ๆ เที่ยว หลังจากนั้นจงฝึกพูดจากบันทึก จนกระทั่งพูดโดยไม่มีบันทึกหรือใช้บันทึกแต่น้อย
๘. จงอย่าละเลยเมื่อมีโอกาสที่จะได้พูดจริง ๆ ต่อหน้าผู้ฟัง โดยการเตรียมตัวให้มากจนเกิดความมั่นใจ บางตอนที่สำคัญท่านจะต้องท่องจำให้ได้ โดยเฉพาะการขึ้นต้น และการจบจะต้องท่องจำเอาไว้ให้ได้
๙. จงเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบอย่างใด ๆ ไปทั้งหมด จงนึกอยู่เสมอว่าท่านมิได้กำลังพูดแทนใคร แลไม่มีใครพูดแทนท่านได้ ท่านล้มเหลวในแบบของท่านเองดีกว่าท่านชนะในแบบของผู้อื่น
วิธีที่สอง การฝึกพูดแบบเป็นทางการ
การฝึกพูดแบบเป็นทางการ หมายถึง การฝึกพูดที่มีรูปแบบที่แน่นอน มีบทฝึก มีขั้นตอนโดยเฉพาะ ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง การฝึกพูดแบบ เป็นทางการที่ปฏิบัติกันอยู่ในสโมสรฝึกพูดต่างๆ โดยสรุปเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้
๑. โครงสร้างของสโมสรฝึกพูด
๒. ขั้นตอนการฝึกพูด
๓. การดเนินรายการฝึกพูด
๑. โครงสร้างของสโมสรฝึกพูด
โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างของสโมสรฝึกพูด จะจัดเป็นรูปคณะกรรมการเช่นเดียวกันกับสโมสรทั่ว ๆ ไป คือ มีนายกสโมสร อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก ปฏิคม และประชาสัมพันธ์ ซึ่งในแต่ละสโมสรอาจมีหน้าที่ต่างๆ แตกต่างกัน ไปได้
๒. ขั้นตอนการฝึกพูด
ขั้นตอนการฝึกพูดของสโมสรฝึกพูดนั้น มักจะดำเนินการเป็น ๔ ขั้นตอน คือ
๒.๑ การฝึกพูดแบบฉับพลัน ได้แก่ การเชิญให้สมาชิกพูดในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งโดยที่ผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวมาล่วงหน้าจะใช้เวลาการพูดเพียง ๒-๓ นาที
๒.๒ การฝึกพูดแบบเตรียมตัว ได้แก่ การฝึกพูดในบทเรียนหรือเนื้อหา และบทฝึกพูดตามมุ่งหมายของบทเรียนหรือบทฝึกที่มีความมุ่งหมายเฉพาะ อย่างกำหนดไว้ จะมีเวลาในการพูด ๕-๗ นาที และผู้พูดมีโอกาสเลือกเรื่องที่จะพูดได้ตามต้องการ
๒.๓ การวิจารณ์การพูด ได้แก่ ขั้นตอนที่ผู้พูดหรือสมาชิกฝึกพูด ได้รับการประเมินผล และคำแนะนำในการแก้ข้อบกพร่อง ของแต่ละคนสำหรับเป็นข้อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นสำหรับการพูดครั้งต่อไป
๓. การดำเนินรายการฝึกพูด
การดำเนินรายการฝึกพูดของสโมสรแต่ละแห่ง อาจมีข้อแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเหมาะสม แต่โดยมาก มักมีการกำหนด นัดหมาย ให้มีรายการฝึกพูด สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ประมาณ ๒ - ๓ ชั่วโมง โดยมีรายการเป็นลำดับ
ส่วนท่านสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ เพียรศักย์ ศรีทอง ซึ่งได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติในการฝึกฝนการพูดไว้อย่างละเอียด และน่าสนใจมาก โดยพอจะเรียบเรียงเป็นขั้นตอน ได้ดังนี้
๑. การฝึกฝนให้รู้จักแสวงหาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ควรต้องฝึกดังเรื่องในต่อไปนี้
๑.๑ ฝึกนิสัยรักการอ่าน
๑.๒ ฝึกนิสัยรักการฟัง
๑.๓ ฝึกนิสัยในการคิดสร้างสรรค์
๑.๔ ฝึกจดจำเรื่องราวต่าง ๆ
ซิเซโร (Cicero) นักพูดผู้โด่งดังชาวโรมัน เมื่อ ๑๐๖ - ๖๓ ปีก่อนคริสตกาล ได้กล่าวเกี่ยวกับ ความจำของมนุษย์ไว้ว่า ความจำคือคลัง และยามเฝ้าสรรพสิ่ง หมายถึง ความจำเป็นแหล่งสะสมความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์
ในเรื่องของการฝึกความจำนั้น แฮร์รี่ โลเรน กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
เทคนิคการช่วยความจำมีบทบาทสำคัญ และเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย คำว่า "นีมอนิค" (Mmemornic) แปลว่า เทคนิคการช่วยความจำนั้น มาจากคำว่า "นีมอซีน" (Mnemosyne) ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาองค์หนึ่งของชาวกรีกโบราณ ได้ชื่อว่าเป็นเทพธิดาแห่งความจำ นั่นก็แสดงว่า เทคนิคการช่วยจำมีมานานแล้ว ตั้งแต่อารยธรรมกรีกยุคต้น ๆ เป็นเรื่องที่แปลกคือ ระบบการจดจำที่สามารถฝึกฝนได้ ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้ และนำมาใช้กัน คนที่รู้จักนำมาใช้ ไม่เพียงแต่จะแปลกใจ ที่ตนมีความสามารถในการจดจำดี แต่ยังแปลกซ้ำไปอีกที่ได้รับแต่คำชมเชย ยกย่องจากเพื่อนฝูง และสมาชิกของครอบครัว บางคนเห็นว่าเทคนิคการจำเหล่านี้มีค่าเกินกว่า จะไปถ่ายทอดให้คนอื่น
๒. ฝึกกล่าวคำพูดให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษาพูด
การฝึกพูดของนักพูดทั้งหลาย สิ่งแรกที่ควรให้ความสนใจ ก็คือ ฝึกการออกเสียงภาษาที่พูดให้ถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะ การออกเสียงพยัญชนะให้ถูกต้องชัดเจน กรณีที่ไม่ออกเสียงเหมือนอักษรที่เขียนมีอยู่ ๒ ชนิด ที่ทำให้คนส่วนหนึ่ง รำคาญหู คือ
๑. ตัว "ร" กลายเป็น "ล" การกระทำเช่นนี้บางครั้งอาจทำให้สื่อความหมายผิดไปได้
๒. ตัวกล้ำ เช่น พูดว่า "ปับปุง" แทนที่จะออกเสียงกล้ำว่า "ปรับปรุง"
ถ้อยคำที่คนส่วนใหญ่ออกเสียงผิด พอจะยกตัวอย่างได้ไม่ยาก อาทิเช่น
๒.๑ ถ้อยคำที่เขียนด้วย "ร" และ "ล"
๒.๒ ถ้อยคำที่ออกเสียงเป็นเสียงควบคล้ำ เช่น กว้างขวาง ไขว้เขว พลัดพราก คลี่คลาย เพลิดเพลิน แพร่พราย ตรวจตรา ตรึงตรา ฯลฯ
๒.๓ ถ้อยคำที่เป็นคำศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาไทยเรามีการสร้างคำใหม่ขึ้นมา โดยวิธีการสร้างคำสมาส คำสนธิ คำประสม คำซ้อน ฯลฯ คำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่ออกเสียงไม่เป็นไปตามรูปศัพท์ โดยเฉพาะคำศัพท์ ที่เป็นคำ สมาส หรือคำประสม เช่น
ประสบการณ์ ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "ประ - สบ - กาน"
กาลสมัย ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "กาน - ละ - สะ - หมัย"
ปรัชญา ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "ปรัด - ยา"
๓. การฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง นักพูดที่ดีต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง การฝึกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น แก่ตนเองจนเกิดเป็นนิสัย ผู้ฝึกจะต้องมีความตั้งใจ อดทน ฝึกฝนตนเองในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๓.๑ ฝึกสร้างพลังจิตให้มีปมเด่น
๓.๒ ฝึกตนให้เป็นคนกล้าพูด
๓.๓ ฝึกการใช้สายตา และกิริยาท่าทางเวลาพูด
๔. ฝึกตนให้เป็นคนมีความอดทนอดกลั้นต่อ อิฏฐารมณ์ และอริฏฐารมณ์ จะต้องฝึกตนเกี่ยวกับการอดทน ต่ออากัปกิริยาต่าง ๆ ของผู้ฟัง เพราะการพูดทุกครั้ง ย่อมได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ฟัง ทั้งทางบวก และทางลบ การหักห้ามอารมณ์ และรู้จักข่มใจตนเอง จึงเป็นสิ่งที่นักพูดต้องฝึกฝนให้ได้ โดยอาศัยหลักในการฝึกฝนดังนี้
๔.๑ ฝึกระงับอารมณ์ต่าง ๆ
๔.๒ ฝึกวางเฉยให้ได้ (อุเบกขา)
๔.๓ ฝึกการไม่ตอบโต้ผู้ฟัง
๔.๔ ฝึกไม่วางโตเหนือผู้ฟัง
๔.๕ ฝึกสร้างพลังใหม่ ๆ
๕. ฝึกการพัฒนาบุคลิกในการพูด
ดร.ประดินันท์ อุปรมัย ได้แบ่งกลุ่มนักจิตวิทยาที่อธิบายพัฒนาการทางบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็นกลุ่ม ๔ กลุ่ม ตามวิธีการศึกษาทัศนะ คือ
๑. นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ ซึ่งใช้วิธีการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคล ด้วยการวิเคราะห์จิตของคนไข้โรคจิตเป็นส่วนใหญ่
๒. นักจิตวิทยากลุ่มเน้นลักษณะของบุคคล ซึ่งใช้วิธีศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลปกติทั่วไป โดยเน้นศึกษาลักษณะของบุคคลเป็นสำคัญ
๓. นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งใช้วิธีศึกษาพฤติกรรมของบุคคล โดยนำเอาความรู้พื้นฐาน ที่ได้จากการทดลองกับสัตว์ มาประยุกต์ กับการศึกษาพฤติกรรมของบุคคล
๔. นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ซึ่งมีความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ในเรื่อง แนวโน้มในการพัฒนาศักยภาพแห่งตน และมีพื้นฐานความเชื่อในปรัชญาอัตภาวนิยม
จากแนวคิดที่นักจิตวิทยาได้ให้ทัศนะในการพัฒนาบุคลิกภาพไว้นี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาบุคลิกภาพ จะต้องมีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน และหลาย ๆ วิธี ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ การพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนา
การวิเคราะห์ผู้ฟัง
การพูดให้ประสบความสำเร็จ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังได้นั้น ผู้พูดต้องทำหารวิเคราะห์เสียก่อน เนื่องจากผู้ฟังนั้น ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญมากประการหนึ่ง ที่จะทำให้การพูดบรรลุผล สมตามจุดมุ่งหมายที่ ผู้พูดวางไว้ ผู้พูดที่ดีจึงต้องให้ความสนใจ และปรับการพูดให้เข้ากับผู้ฟัง ที่ประกอบด้วย บุคคลต่างเพศ ต่างวัย ต่างประสบการณ์ ซึ่งก็ย่อมมีความรู้สึกนึกคิด ความสนใจ รสนิยม หรือทัศนคติที่แตกต่างออกไป ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด ที่ผู้พูดพึงกระทำก็คือ พยายามวิเคราะห์ผู้ฟังให้ดีว่า อยู่ในลักษณะใดบ้าง แล้วมีความชอบอย่างไร สนใจอย่างไร ฯลฯ เพื่อทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ฟังไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้พูดได้ถูกต้อง และ สามารถวางรากฐาน ในการเตรียมการพูด การใช้ถ้อยคำ วิธีอธิบาย การยกตัวอย่าง ตลอดจน การเสนอความคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้ฟังให้ได้มาก และดีที่สุด นักปราชญ์ทางวาทศาสตร์ในยุคโบราณ เช่น อริสโตเติล ก็ใช้การวิเคราะห์ผู้ฟังเป็นหลัก ในการสร้างความสำเร็จ
การวิเคราะห์ผู้ฟังให้ได้ครบถ้วน ทุกแง่ทุกมุมอย่างสมบูรณ์นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามผู้พูดก็ควร พยายามทำให้ได้มากที่สุด เพราะเหตุว่า การพูดโดยปราศจากการวิเคราะห์ผู้ฟังเสียก่อนนั้น เปรียบเสมือน นายแพทย์ที่จ่ายยาแก่คนไข้ไม่ได้วินิจฉัยโรค นายแพทย์ผู้นั้นก็ย่อมจะ ไม่ประสบความสำเร็จ ในการการศึกษา หรือวิเคราะห์ผู้ฟังต้องทำรวมๆ กันไปเป็นกลุ่มว่าส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นอย่างไร
ในการวิเคราะห์ผู้ฟังนั้น สิ่งที่ผู้พูดควรพิจารณามีดังนี้
๑. ลักษณะทางกายภาพ (Physical Characteristics) คือ ลักษณะของผู้ฟังในแง่ของ
๑.๑ วัยของผู้ฟัง
ผู้ฟังต่างวัยกันย่อมมีความสนใจ ความเข้าใจ ความรู้พื้นฐาน ฯลฯ ต่างกันดังนั้นผู้พูดที่ดีจึงต้องรู้จักปรับการพูดของตนให้เข้ากับวัยของผู้ฟัง ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น ๔ ช่วง คือ
๑.๑.๑ วัยเด็ก ธรรมชาติของผู้ฟังวัยเด็กคือ
- ความสนใจ และความตั้งใจ วัยเด็กเป็นที่มีแต่ความซุกซน อยู่นิ่งเฉยนานๆ ไม่ได้ กล่าวได้ว่าความตั้งใจของเด็กในการฟังจะมีอยู่ได้นานไม่เกิน ๑๕ นาที เด็กมีความสนใจเรื่องสนุกสนานตื่นเต้น เรื่องขำขันง่ายๆ
- ประสบการณ์ วัยเด็กเป็นวัยที่มีประสบการณ์คับแคบ ความรู้น้อย วงของความสนใจจะอยู่ใกล้ตัว
การพูดกับผู้ฟังในวัยเด็ก ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้คำพูดง่ายๆ เรื่อง และตัวอย่างไม่ลึกซึ้ง เด็กเห็นได้ง่าย
- เรื่องที่พูด จะต้องสนุกสนานน่าติดตาม
- เรื่องที่พูดจะต้องมีเรื่องตลก แทรกอยู่เป็นระยะพอเหมาะ
- พยายามเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของเด็กไปเรื่อยๆ
๑.๑.๒ วัยรุ่น ธรรมชาติของผู้ฟังวัยรุ่น คือ
- ความสนใจ และความตั้งใจ เด็กวัยรุ่นจะมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่ท้าทายต่างๆ ต้องการลองดีกับสิ่งใหม่ๆ บูชาวีรบุรุษ สำหรับเรื่องช่วงเวลาของความตั้งใจนั้นขึ้นอยู่กับความสนใจ
- ประสบการณ์ เด็กวัยรุ่นมีประสบการณ์กว้างขวางกว่าวัยเด็ก
การพูดกับผู้ฟังในวัยรุ่น ควรปฏิบัติดังนี้
- คำนึงถึงจิตวิทยาวัยรุ่นให้มาก
- พยายามทำให้ผู้ฟังเลื่อมใสแต่ระวังอย่าพูดแบบข่ม
- ต้องมีการแทรกเรื่องสนุกสนานเป็นระยะๆ แต่จะแทรกตลกพื้นๆ ไม่ได้
๑.๑.๓ วัยผู้ใหญ่ ธรรมชาติของผู้ใหญ่ คือ
- ความสนใจ และความตั้งใจ ผู้ใหญ่เป็นวัยที่มีเหตุผล มีความสนใจในเรื่องที่เป็นสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง ในแง่ของความตั้งใจผู้ใหญ่มีมารยาท และความสามารถในการระงับความรู้สึดได้ดี ดังนั้นถึงแม้เขาไม่สนใจฟัง แต่เขาก็อาจทำท่าเหมือนสนใจฟัง
- ประสบการณ์ ผู้ใหญ่เป็นวัยที่มีประสบการณ์มองโลกอย่างกว้างขวาง และมีเหตุผล นิยมผู้ที่มีความรับผิดชอบ
การพูดกับผู้ฟังในวัยผู้ใหญ่ ควรปฏิบัติดังนี้
- ต้องตระเตรียมเรื่องที่พูดให้รอบคอบมีเหตุผล
- ใช้คำพูดที่มีอิทธิพลที่จะชักจูงความคิดของผู้ฟังได้
- ไม่ควรพูดเรื่องตลกไร้สาระ แต่อาจมีเรื่องเยาสมองแทรกได้
- ไม่ควรพูดเยิ่นเย้อ
๑.๑.๔ วัยชรา
วัยชรา เป็นวัยที่ยึดถือสิ่งที่เป็นที่พึ่งทางใจ เช่น ศาสนา ฯลฯ ผ่านประสบการณ์มามากมาย ชอบครุ่นคิดถึงอดีต มีความรู้สึกเหมือน คนถูก ทอดทิ้ง ใจน้อย การพูดกับผู้ฟังวัยชรามีวิธีการคล้ายๆ กับการพูดแบบผู้ใหญ่ แต่ต้องใช้ถ้อยคำที่แสดงว่าผู้พูดนับถือวัยวุฒิของผู้ฟังมากกว่า ควรพูดในทำนองปรึกษาหารือ ปรับทุกข์ ข้อสำคัญ คือ คนชรามักภูมิใจในความสำเร็จเมื่อครั้งอดีตของตน หากได้นำมาเอ่ยถึงแล้วจะพอใจมาก
๑.๒ เพศของผู้ฟัง
เพศหญิง และเพศชายมีความแตกต่างกันในเรื่องความคิด ทัศนคติ แต่ละเพศก็มีความรอบรู้ ความสนใจ ตลอดจนรสนิยมไปคนละแบบ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ สังคม และวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดบทบาทของแต่ละเพศ ให้มีความแตกต่างกัน เพสหญิงมักจะสนใจในเรื่องความสวยงาม การบ้านการเรือน มองเห็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนได้มากกว่าเพศชาย มีจิตใจอ่อนไหว เจ้าอารมณ์ และอาจถูกชักจูงให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ง่ายกว่าเพศชาย เรื่องที่เพศหญิงสนใจ ได้แก่
- ความสวยงาม
- เสื้อผ้า
- การแต่งกาย
- การเลือกคู่
ส่วนเพศชายจะเป็นเพสที่มีความสนใจในเรื่องหนักๆ เช่น เรื่องของเครื่องยนต์กลไก การเมือง การกีฬา ฯลฯ มักจะใช้เหตุผลมากกว่าผู้หญิง การโน้มน้าวจิตใจมักจะทำได้ยาก ไม่อ้อมค้อม ไม่เพ้อฝัน
จากที่กล่าวมาข้างตนอาจเห็นได้ว่าทั่วไปเพศหญิง และเพศชายจะมีความถนัด และความรับผิดชอบที่แตกกต่างกัน ถ้าผู้พูดมีโอกาสได้รู้ล่วงหน้าว่า ผู้ฟังเป็นเพศใด หรือส่วยใหญ่เป็นเพศใด ก็จะเป็นการช่วยในการเตรียมเนื้อหา และรายละเอียดต่างๆ ที่จะนำเสนนอให้ดียิ่งขึ้น
๑.๓ จำนวนผู้ฟัง
การทราบจำนวนผู้ฟังล่วงหน้า จะทำให้ผู้พูดสามารถเตรียมเนื้อหาสาระสาระที่จะพูดได้เหมาะสมยิ่งขึ้น และสามารถกำหนดแนวทาง ในการพูดว่า สมควรที่จะพูดอย่างไร ในทิศทางใด
สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ การจัดขนาดห้องให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ฟัง โดยทั่วไป การพูดกับผู้ฟังจำนวนน้อย ที่นั่งกระจายกันอยู่ใน ห้องขนาดใหญ่ ย่อมจะน้อยกว่าการพูดกับผู้ฟังจำนวนมากที่นั่งกันอยู่ในห้องขนาดเล็ก เพราะตามหลักจิตวิทยา ผู้พูดจะเกิดความรู้สึก กระตือรือร้น เมื่อผู้ฟัง นั่งกันอยู่เต็มห้อง
๒. ลักษณะทางจิตวิทยา (Phychological Characteristics) ได้แก่ คุณสมบัติของคนฟัง ดังต่อไปนี้ เช่น
๒.๑ ระดับการศึกษา การศึกษาคือเครื่องชี้ความสามารถของบุคคลขั้นมูลฐานผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกันก็จะมีความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ประสบการณ์ และความต้องการที่แตกต่างกันไปด้วย ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาสูงอาจเข้าใจคุณค่าทางวุฒิปัญญา และทางศีลธรรมได้ง่าย แต่อาจตอบสนองได้ช้า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องข้อเสนอทางอารมณ์ ส่วนผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาต่ำจะเข้าใจเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้ง่ายกว่าเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น ดังนั้นผู้พูดต้อง พิจารณาถึงพื้นฐานการศึกษา ของผุ้ฟังด้วยว่าอยู่ในระดับใดจะได้เลือกเรื่องที่จะพูดได้ถูก
๒.๒ พื้นฐานวิชาชีพ และความจัดเจน ลักษณะอาชีพของแต่ละคนก็มักจะมีผลต่อความสนใจ และแนวความคิดของเขาเสมอ
๒.๓ พื้นฐานทางวัฒนธรรม ผู้ฟังที่มีการกล่อมเกลาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ก็ย่อมมีความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ประสบการณ์ และความต้องการ แตกต่างกันออกไปด้วย
๒.๔ สถานภาพการสมรส ผู้ที่สมรสแล้วกับผู้ฟังที่ยังโสดก็มีความสนใจที่แตกต่างกัน
ประเภทของผู้ฟัง
ในการพูดนั้นผู้พูดจะพบกับผู้ฟัง ๕ ประเภท คือ
๑. ผู้ฟังที่เป็นมิตร ผู้ฟังประเภทนี้เป็นผู้ฟังที่เห็นด้วยกับสาระแนวความคิดของผู้พูดจึงไม่เป็นการยากที่จะทำให้ผุ้ฟังเชื่อถือ และยอมรับ
๒. ผู้ฟังที่ไม่สนใจ ถ้าผู้ฟังไม่สนใจฟัง ผู้พูดต้องเร้าผู้ฟังให้เกิดความสนใจฟังในเรื่องที่เขาพูด โดยสร้างคำพูดให้เกิดพลัง และมีชีวิตชีวา
๓. ผู้ฟังที่ไม่มีความคิดริเริ่ม ผู้ฟังประเภทนี้ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้พูดพูดเลยแต่ก็ตั้งใจฟังด้วยดี ผู้พูดต้องเสนอผู้ฟังโดยการเสนอข้อมูล ข่าวสาร ในรูปแบบที่น่าสนใจ
๔. ผู้ฟังที่เป็นกลาง ผู้ฟังประเภทนี้จะมีใจที่เปิดรับข่าวสาร ผู้พูดจึงควรอธิบายแนวคิดแลชักจูงใจให้ผู้ฟังยอมรับ
๕. ผู้ฟังที่เป็นศัตรู ผู้ฟังแบบนี้คัดค้านความเชื่อ และข้อสรุปของผู้พูด เพราะฉะนั้นผู้พูดต้องมีข้อมูล และข้อเท็จจริงที่ค้านไม่ได้
วิธีการหาข้อเท็จจริงในการวิเคระห์กลุ่มผู้ฟัง
จากหลักวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง ผู้พูดอาจทำตารางไว้กรอกข้อเท็จจริง สำหรับนำมาพิจารณา ในการเตรียมพูดดังนี้
หัวข้อการพูด.....................................................................................................................................
กำหนดการพูด วัน เดือน ปี ................./.............../................เวลา ...................................................
ผู้พูด ....................................................................ผู้จัด .....................................................................
กลุ่มผู้ฟัง
ข้อพิจารณา

รายละเอียด
๑. จำนวน
๒. เพศ
๓. วัย
๔. กลุ่มสังคม
๕. กลุ่มอาชีพ
๖. พื้นฐานความรู้โดยทั่วไป
๗. พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่พูด
๘. ความสนใจ
๙. ความมุ่งหวัง
๑๐. ทัศนคติ
ลักษณะของโอกาสการพูด
การพูดให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้พูดต้องพิจารณา คือ ผู้พูดต้องพูดให้เหมาะสมกับโอกาส ในการวิเคราะห์เรื่องโอกาสมีข้อควรสนใจดังต่อไปนี้
๑. วัตถุประสงค์ในการมารวมกันของผู้ฟัง
๒. เวลา
๓. สถานที่
๔. โอกาส
การทักทายผู้ฟัง
ในการพูดที่ประชุมทุกครั้ง ผู้พูดต้องมีการทักทายผู้ฟังก่อน เนื่องจาก
- เป็นมารยาทที่ดีงาม
- เป็นการให้เกียรติผู้ฟัง
- เป็นการสร้างความค้นเคย
- เป็นการบรรเทาอาการประหม่า
ในการทักทายผู้ฟัง โดยทั่วไปผู้พูดไม่ควรกล่าวคำทักทายบุคคลเกิน ๓ ชื่อ หรือ ๓ กลุ่มบุคคล เพราะถ้ามากกกว่านั้นจะเป็นการเสียเวลา ซึ่งการทักทายผู้ฟังมี ๒ แบบ ให้ผู้พูดเลือกปฏิบัติให้เหมาะสม
๑. แบบเป็นทางการ จะใช้ในงานที่เป็นพิธีการต่างๆ โดยที่ผู้พูดจะไม่ใส่ความรู้สึกระหว่างตนเองกับผู้ฟัง
๒. แบบไม่เป็นทางการ จะใช้ในงานที่ไม่เป็นพิธีการหรืองานทั่วๆ ไป ซึ่งผู้พูดสามารถใส่ความรู้สึกระหว่างตนเองกับผู้ฟังลงไปในคำพูดได้
การใช้ถ้อยคำในระหว่างการพูด
ผู้พูดที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านแล้วหันมาเลือกใช้ถ้อยคำที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกยินดี และพึงพอใจ และควรมีลักษณะ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. ถ้อยคำที่นุ่มนวล ชวนฟัง
๒. ถ้อยคำที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
๓. ถ้อยคำที่กระชับ
๔. ถ้อยคำที่ปกป้องผู้พูดจากความเข้าใจผิดของผู้ฟัง
๕. ถ้อยคำที่ผู้ฟังรับทราบ และเข้าใจได้
ส่วนในทางตรงกันข้ามถ้อยคำ และวลีที่ผู้พูดพึงหลีกเลี่ยงในการใช้ และเป็นเรื่องที่ผู้พูดต้องควบคุมตนเองให้ได้ ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะดังนี้
๑. คำส่วนเกิน คือ คำที่เติมเข้ามาโดยไม่มีความหมายเฉพาะ และไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่พูดคุยกันอยู่ เป็นต้นว่า
"แบบว่า"
"จริงไหม"
๒. คำชินปากไร้สาระ คำพูดชินปากที่ไม่มีนัยสำคัญในการสื่อความหมายที่ควรจะจำกัดทิ้งไป มีหลายคำ เช่น
"เป็นอะไรที่"
"ผมเดาว่า"
"แล้วอะไรต่อมิอะไร"
๓. คำปาดใจระคายหู ในทันทีที่คำประเภทนี้หลุดออกจากปาก สะพานการสื่อสารระหว่างผู้พูดกันผู้ฟังก็จะขาดสะบั้นลงทันที ดังเช่น
"คุณไม่มีทางเข้าใจ"
"แน่นอนที่สุด ผมไม่เคยพลาดอยู่แล้ว"
"คุณต้องทำวิธีของผม"
๔. โยนกลองทุกคำ วิสัยมนุษย์จะอิ่มเอิบรับผิดชอบ อย่างหน้าชื่นตาบาน แต่เมื่อโดนตำหนิ จะ "ปัด" ความผิด โยนกลองไปให้ผู้อื่นรับผิด การปัดความผิด ให้พ้นตัว เป็นพัลวันเป็นการทำลายตนเอง และสร้างความรำคาญระคายเคือง ให้ผู้คนรอบข้างที่ต้องทนรอฟังคำแก้ตัว
ไม่ว่าจะเกิดความผิดพลาดใหญ่หลวงเพียงใด อย่าได้ป้ายคำตำหนิไปให้ผู้อื่นควรถามตนเองว่า "เราจะทำอะไรได้บ้าง?" "เราจะพลิกสถานการณ์ได้อย่างไร?"
การเว้นวรรคในการพูด
การเว้นวรรคในการพูด จัดว่าเป็นศิลปะ และลีลาการพูดที่สำคัญ เพราะทำให้การพูดเป็นจังหวะ ไม่ตะกุกตะกัก และยังเป็นการเน้นข้อความที่จะพูดต่อไปด้วย
เดล คาร์เนกี ปรมาจารย์ทางการพูด ได้กล่าวเกี่ยวกับการเว้นวรรคในการพูดไว้ว่า "การจะหยุดตรงไหน มิได้เป็นกฎแน่นอนตายตัว มันขึ้นอยู่กับความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกที่แตกต่างกัน"
มีหลักในการพูดที่ควรยึดไว้ปฏิบัติในการหยุดเว้นวรรค ดังนี้
๑. ควรหยุดท้ายคำถาม
๒. ควรหยุดท้ายกลุ่มคำ
๓. ควรหยุดก่อนที่จะกล่าวคำหรือเรื่องสำคัญ
๔. ควรหยุดหน้าหรือหลัวข้อความที่ต้องการพูดแบบเน้น
๕. ควรหยุดเมื่อพูดคำสันธาน หรือคำเชื่อประโยค
การใช้โสตทัศนูปกรณ์ประกอบการพูด
โสตทัศนูปกรณ์มีมากมายหลายประเภท ตั้งแต่สิ่งที่มีวิธีการใช้ง่าย เช่น การดานดำ แผนภาพ แผนที่ แผนภูมิ โปสเตอร์ ของจริง และหุ่นจำลอง จนกระทั่ง เครื่องมือที่ต้องใช้เทคนิค เช่น เทปบันทึกเสียง เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายข้ามศีรษะ ภาพยนตร์ เป็นต้น ในการใช้โสตทัศนูปกรณ์เหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพ ควรคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้
๑. ขนาดของโสตทัศนูปกรณ์ ต้องมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอที่ผู้ฟังทุกคนจะสามารถเห็นได้
๒. การเลือกใช้โสตทัศนูปกรณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด โดยระลึกเสมอว่าการนำโสตทัศนูปกรณ์มาใช้ประกอบการพูดนั้นก็เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจของผู้ฟัง
๓. ความประณีตของโสตทัศนูปกรณ์ เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้
๔. การเลือกใช้โสตทัศนูปกรณ์ที่เข้าใจง่าย ผู้พูดควรเลือกใช้โสตทัศนูปกรณ์ที่แสดงข้อมูลง่ายๆ เพียงพอที่ผู้ฟังเข้าใจได้ทันที จะช่วยให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่ายทันที
๕. แสดงโสตทัศนูปกรณ์ในท่าทีหันหน้าไปสู่ผู้ฟัง เพื่อช่วยสะกดใจให้ผู้ฟังสนใจการพูดได้อย่างต่อเนื่อง
๖. ฝึกการเขียนกระดานดำหรือกระดานไวท์บอร์ด เมื่อเวลาพูดจริงจะได้เป็นไปด้วยความราบรื่นไม่ติดขัด
๗. การเตรียมแผ่นใสที่ใช้กับเครื่องฉายข้ามศีรษะประกอบการพูด ผู้พูดควรซักซ้อมการใช้เครื่องฉายข้ามศีรษะไว้ล่วงหน้า เพื่อขจัดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เมื่อถึงเวลาใช้จริงจะสามารถใช้ได้อย่างคล่องตัว และทำให้การพูดดำเนินไปด้วยความราบรื่น
๘. การจัดเตรียมโสตทัศนูปกรณ์ให้พร้อมก่อนการพูด ผู้พูดควรจัดเตรียมไว้เป็นลำดับให้เรียบร้อย และอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานทันที เพื่อที่ผู้พูดจะทุ่มเทความสนใจให้แก่การพูดได้อย่างเต็มที่
๙. การซักซ้อมทดลองเครื่องโสตทัศนูปกรณ์
๑๐. การปิดหรือเก็บโสตทัศนูปกรณ์เมื่อใช้เสร็จ
การแก้ไขอาการตื่นเวทีขณะพูด
การตื่นเวที เป็นภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลอยู่ภายใน จึงไม่สามารถทำให้ควบคุมจิตใจ และอาการที่แสดงออก ทางร่างกายได้
ระดับของการตื่นเวที แบ่งออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ
๑. Audience Tension เป็นการพูดที่ตื่นเวทีที่เกิดจากความรู้สึกเครียด และตื่นกลัว เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลสะท้อนมาจาก ความตั้งใจของผู้พูด ที่มีต่อการพูด
๒. Audience Fear เป็นลักษณะของการตื่นกลัวซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการพูด เพราะในขณะที่พูดผู้พูดจะมีอารมณ์หวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา
๓. Audience Panic เป็นลักษณะการตื่นเวที ที่แสดงออกถึงความหวาดกลัวที่สุดขีดจนสุดจะระงับไว้ได้ เป็นการตื่นเวทีที่รุนแรงมาก จนผู้พูดไม่สามารถ ควบคุมอาการตื่นของตนเองได้ อาการตื่นเช่นนี้จะทำลายบุคลิกภาพของผู้พูดอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุของการตื่นเวที มาจากหลายสาเหตุ เช่น
๑. ผู้พูดขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
๒. ผู้พูดมีทัศนคติต่อผู้ฟังที่ผิด
๓. ผู้พูดขาดประสบการณ์การในการพูด
วิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขอาการตื่นเวที มีดังนี้
๑. สร้างความเชื่อมั่นในตนเองโดยการฝึกฝน และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพูด
๒. เตรียมโน้ตสั้นๆ ไว้ช่วยเตือนความจำขณะพูด
๓. สร้างทัศนคติที่ไม่ตื่นกลัวผู้ฟัง
๔. สร้างประสบการณ์ทางการพูด
๕. มีความอดทนในการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ทางการพูด
การประเมินผลการพูด ความหมาย
การประเมินผลการพูด หรือ บางครั้งอาจเรียกว่าการวิจารณ์การพูด คือ การพิจารณาตัดสิน เพื่อให้ทราบว่าผู้พูดพูดได้ดีมากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใด ที่เป็น ข้อบกพร่อง สมควรแก้ไขปรับปรุง ซึ่งปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback) ของผู้ฟังทั้งทางวัจนภาษา เช่น การติชม เสนอแนะ วิจารณ์ และ อวัจนภาษา เช่น การปรบมือ พยักหน้า ส่วยหน้า เบ้ปาก ต่างก็เป็นการบอกให้ผู้พูดทราบถึงผล สัมฤทธิ์ในการพูดของตน โดยผู้พูดต้องนำเอาผลการประเมินหรือคำวิจารณ์เหล่านั้นมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการพูดของตนในโอกาสต่อไปให้ดียิ่งขึ้น หรือถ้าสิ่งใดที่ดีหรือเหมาะสมอยู่แล้ว ก็อาจคงความเหมาะสมนั้นไว้หรืออาจจะพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกก็ได้ ในขณะเดียวกันผู้ประเมินผลการพูดก็จะได้สร้างเสริม และฝึกทักษะในด้านกาฟัง และการวิเคราะห์เนื้อหาสาระไปด้วย เพราะในการประเมินผลนั้น ผู้ประเมินผล จะต้องรู้จักการฟังอย่างตั้งใจ รู้จักการใช้วิจารณญาณในการ ฟัง และรู้จักวิจารณ์อย่างมีความรู้ และมีหลักเกณฑ์ ดังนั้นการประเมินผลการพูด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งกับตัวผู้พูด และตัวผู้ฟัง
วัตถุประสงค์หลักของการประเมินผลการพูด
๑. เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงข้อดี และข้อบกพร่องของการพูด
๒. เพื่อให้ผู้พูดเข้าใจถึงข้อบกพร่องในการพูดของตน แล้วนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาการพุดของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓. เพื่อฝึกผู้พูดให้มีจิตใจเข้มแข็ง ยอมรับความคิดเห็น และคำวิจารณ์ของผู้อื่น
หัวข้อที่ใช้ในการประเมินผลการพูด
ในการประเมินผลการพูด ผู้ประเมินฯ จะพิจารณาจากหัวข้อต่างๆ ต่อไปนี้
๑. พิจารณาจากเรื่อง ประกอบไปด้วย
๑.๑ เนื้อหา อารัมภบทเป็นอย่างไร น่าสนใจหรือไม่ ตรงกับเรื่องที่พูดหรือไม่ หรือออกนอกลู่นอกทาง เนื้อเรื่องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน และมีศูนย์รวมจุด จุดหมายหรือไม่ ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ มีค่าพอที่จะเสนอต่อผู้ฟังหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจหรือไม่ ยาวหรือสั้นเกินไป หรือไม่ การดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับหรือไม่ ข้อความชัดเจนหรือไม่ การสรุป ประทับใจหรือไม่ ฝากข้อคิดอะไรไว้บ้าง
๑.๒ สาระ และเหตุผล มีสาระเพียงใด มีเหตุผลเหมาะสมหรือไม่
๑.๓ การใช้ภาษา ชัดเจน ไม่คลุมเครือ หรือซ้ำวากจนหน้าเบื่อหน่ายหรือไม่ มีการใช้ถ้อยคำที่สุภาพหรือไม่ มีตอนใดที่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาหรือความนิยมบ้าง
๒. พิจารณาจากผู้พูด ประกอบไปด้วย
๒.๑ มีการเตรียมตัวมาดีหรือไม่
๒.๒ มีความเชื่อมั่นในตนเองมากน้อยเพียงใด
๒.๓ มีความกระตือรือร้นที่จะพูดเพียงใด และสามารถควบคุมตนเองได้ดีเพียงใด
๒.๔ มีการออกเสียงชัดเจน ถูกต้องเป็นทียอมรับในวงการศึกษาหรือไม่
๒.๕ มีการใช้สายตาได้เหมาะสมกับเรื่องที่พูด และกวาดสายตาไปยังผู้ฟังโดยทั่วหรือไม่
๒.๖ มีลีลาของการพูดสอดคล้องกับเนื้อเรื่องหรือไม่ และมีลักษณะคล้ายการสนทนาหรือไม่
๒.๗ มีการใช้ท่าทางประกอบได้เหมาะสมเพียงใด และเข้ากับสถานการณ์การพูดหรือไม่
๒.๘ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีชีวิตชีวาหรือไม่
๒.๙ มีมารยาทสุภาพเรียบร้อยหรือไม่
๒.๑๐ มีการใช้โสตทัศนูปกรณ์ประกอบการพูดหรือไม่ ถ้ามีสามารถเลือกได้เหมาะสมกับเนื้อหาเพียงใด
๓. พิจารณาจากผู้ฟัง ประกอบไปด้วย
๓.๑ มีความสนใจมากน้อยเพียงใด
๓.๒ มีมารยาทในการฟัง หรือคุยกัน หรือลุกออดไปก่อนหรือไม่
๓.๓ มีการตั้งคำถามเป็นการส่วนตัวเพื่อต้องการทราบ หรือ เพื่อลองภูมิ คำถามเสนอให้เกิดข้อคิดหรือไม่
๔. พิจารณาจากผลสำเร็จในการพูด ว่าได้รับผลสำเร็จเพียงใด ทั้งหมดคำนึงถึงปฏิกิริยาของผู้ฟังเป็นสำคัญ
มาตรฐานในการประเมินผลการพูด
ในการประเมินผลการพูดในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีหลักการหรือมาตรฐานในการวัด และประเมินผล ซึ่งหลักการหรือมาตรฐานดังกล่าวจะ
พิจารณากันใน ๔ หัวข้อ คือ
๑. ผลที่ได้รับจากการพูด (The Result Standard)
เป็นการประเมินผลการพูด โดยพิจารณาจากผลที่ได้รับหรือผลที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักว่าถ้าผู้พูด สามารถพูดให้บรรลุผล สมตามที่ผู้พูดตั้งใจไว้หรือ ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ถือว่าการพูดนั้นมีประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม การประเมินผลการพูดในลักษณะนี้ มีสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา คือ การนำผลการตอบสนองของผู้ฟังมาเป็นตัวตัดสินว่าการพูดนั้นดีหรือไม่ นับว่าเป็นการยากเพราะการตอบสนองของผู้ฟังบางอย่าง เช่น การปรบมือ ก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่ยืนยันได้เสมอไปว่า ผู้ฟังมีความเข้าใจเนื้อหาสาระนั้น เป็นอย่างดี หรือยอมรับแนวคิดนั้นๆ แต่อาจเป็นเพียงการแสดงมารยาทเท่านั้นก็ได้
๒. หลักของความจริง (The Truth Standard)
เป็นการประเมินผลการพูด โดยพิจารณาว่าผลการพูดนั้นมีความชัดเจนหรือแสดงความจริงมากน้อยเพียงใด ถ้าการพูดนั้นแสดงความจริง อย่าง ชัดเจน ก็ถือว่าเป็นการพูดที่ดี แต่ถ้าการพูดนั้นเสนอความคิดที่ผิดหรือชักนำผู้ฟังในทางที่ผิด การพูดนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีผู้ฟังสนใจมาก ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การพูดที่มุ่งเสนอแต่ความจริงนั้น ในบางครั้งก็ไม่สามารถกระทำได้ เช่น ในกรณีเกิดความขัดแย้ง หรือเป็นเรื่องที่เป็นความลับ เป็นต้น
๓. หลักจริยธรรมในการพูด (The Ethical Standard)
เป็นการประเมินผลการพูด โดยพิจารณาว่าผู้พูดเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือเพียงใด เช่น เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจต่อผู้ฟัง มีความปรารถนา ที่จะพูดแต่สิ่งดีงาม เป็นต้น หรือหลักการประเมินผลการพูดแบบนี้จึงขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของผู้พูดที่ปรากฏต่อหน้าผู้ฟัง
อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะพิจารณาว่าผู้พูดคนใดเป็นคนดี คนใดเป็นคนไม่ดี เพราะบางครั้งแม้ว่าผู้พูด จะเป็นคนดี แต่เมื่อพูดออกไป อาจทำให้ผู้ฟัง เกิดความเข้าใจผิดว่าผู้พูดเป็นคนไม่ดีก็ได้
๔. ศิลปะในการพูด (The Artistic Standard)
เป็นการประเมินผลการพูด โดยพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Worth) ในการนำเสนอเนื้อหาสาระ หรือ การที่ผู้พูดสามารถ ใช้ศิลปะ ในการพูด ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
หลักการประเมินผลการพูดแบบนี้ จะพิจาณาจากรูปแบบ และวิธีการที่ผู้พูดนำเสนอ ว่าสามารถใช้ศิลปะในการพูด เพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ดี มากน้อยเพียงใด
หน้าที่ของผู้ประเมินผลการพูด
ผู้มี่ทำหน้าที่ประเมินผลการหรือวิจารณ์การพูด ควรยึดหลักดังนี้
๑. มีใจเป็นธรรม ซื่อสัตย์ และไม่แสดงอคติ
๒. ประเมินผล หรือวิจารณ์การพูดโดยใช้เหตุผล และหลักเกณฑ์ ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
๓. ชี้ให้เห็นจุดเด่น และข้อบกพร่องขอผู้พูดอย่างชัดเจน เอที่ผู้พูดจะได้นำไปปรับปรุงตนเองต่อไป
๔. แสดงให้เห็นว่าผู้ประเมินฯ มีความปรารถนาดีที่จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของผู้พูดอย่างจริงใจ
หน้าที่ของผู้พูดเมื่อได้รับการประเมินผลการพูด
๑. ทำใจเป็นกลาง
๒. ยอมรับการประเมินผล และคำวิจารณ์ด้วยความจริงใจ
๓. นำผลการประเมินไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขการพูดของตนเองต่อไป
๔. สังเกตจุดเด่น และข้อบกพร่องของผู้พูดคนอื่นเอนำมาพัฒนาตนเอง
วิธีการประเมินผลการพูด
วิธีการประเมินผลการพูดที่นิยมใช้กันทั่วไปมีอยู่ ๒ วิธี คือ
๑. วิธีการประเมินผลโดยใช้แบบฟอร์ม
๒. วิธีการประเมินผลโดยไม่ใช้แบบฟอร์ม
วิธีการประเมินผลโดยใช้แบบฟอร์ม
แบบฟอร์มประเมินผลการพูดที่ใช้กันโดยทั่วไปมักจะครอบคลุมการประเมินผลในเรื่องของเนื้อหาสาระ การใช้เสียง และภาษา การใช้สีหน้า แววตา สายตา การใช้อากัปกิริยาประกอบการพูด การปรับตัวให้เข้ากับผู้ฟัง มารยาทในการพูด ความกระตือรือร้น และการรักษาเวลา ฯลฯ ซึ่งผู้ประเมินผลในแต่ละหน่วยงานอาจจะใช้แบบฟอร์มที่แตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่หลักการส่วนใหญ่มักจะคล้อยคลึงกัน ในที่นี้จะขอนำเสนอตัวอย่างแบบฟอร์มประเมินผลการพูดสัก ๒ ตัวอย่างมาเปรียบเทียบกัน คือ
ดูแบบฟอร์มการประเมิน
๑. แบบที่ ๑
๒. แบบที่ ๒
วิธีการประเมินผลโดยไม่ใช้แบบฟอร์ม
การประเมินผลโดยไม่ใช้แบบฟอร์ม นับเป็นการประเมินผลที่ให้ความเป็นอิสระแก่ผู้ประเมินฯ มากที่สุด โดยการสังเกตจุดเด่น และจุดด้อยของผู้พูดเอาไว้ ถึงแม้จะไม่ใช้แบบฟอร์มแต่ก็ต้องมีการบันทึกไว้ตามที่สังเกตได้ โดยใช้วิธีการฟังไปบันทึกไป
การพูดในชีวิตประจำวัน
ในวันหนึ่งๆ เราต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารในรูปแบบของ "การพูด" อาทิเช่น การสนทนาทั่วไป การสนทนาทาง โทรศัพท์ การทักทาย การแนะนำตน การปรึกษาหารือ การตัดเตือน การตำหนิ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่เราควรจะทราบถึงวิธีการพูด ในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่นต่อไป

การสนทนาทั่วไป
การสนทนา หมายถึง การพูดคุยระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น ในสิ่งที่มีความสนใจอยู่ร่วมกัน โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันเป็นผู้พูด และผู้ฟัง ซึ่งในการสนทนานั้นคู่สนทนาอาจมีความคิดเห็นที่ตรงกัน คล้อยตามกัน หรือขัดแย้งกันก็ได้ การสนทนาที่ดีจะต้องสร้าง และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่สนทนา ดังนั้นคู่สนทนาที่ดีจึงควรทั้งแสดงความคิดเห็นของตนเอง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไปด้วย ไม่ควรเอาชนะหรือแสดงแสดงความเด่นเหนือผู้อื่น เพราะผู้ที่ชอบแสดงตนโอ้อวดเอาชนะผู้อื่นจะหาคู่สนทนาได้น้อยลงทุกที
การสนทนามีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความตรึงเครียด เป็นเครื่องมือในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ กระชับความสัมพันธ์อันดี ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดี และความสำเร็จในการทำงานทุกอย่าง
การสนทนาอาจแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบไม่เป็นทางการ คือ การสนุกสนานเฮฮาไปตามสบาย และเรื่องที่สนทนาก็ไม่จำกัด กับแบบเป็นทางการ ซึ่งมีการตระเตรียมเรื่องที่พูดมาเป็นอย่างดี
สำหรับมารยาทในการสนทนาโดยทั่วไป คู่สนทนาควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
ตั้งใจฟังคู่สนทนา
พูดให้เป็นธรรมชาติ ไม่ทำเสียงสูงต่ำ ทุ้มแหลม จนเกินงาม และไม่ควรลอยหน้าลอยตาจีบปากจีบคอพูดจนดูผิดปกติ
พูดด้วยความจริงใจ
ไม่พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยคู่สนทนา
ไม่พูดจาโผงผางแบบขวานผ่าซาก
พูดแต่เรื่องที่ทำให้คู่สนทนาหรือผุ้ที่อยู่ในกลุ่มสบายใจ และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลเสียกับใคร
ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ควรระมัดระวังโดยพูดในลักษณะที่เป็นกลาง หรือถ้าจะชมผู้ใดก็ไม่ควรพูดจนเกินจริง เพราะจะทำให้ผู้ได้รับคำชมกระดาก
ออกสียงในภาษาที่ชัดเจนถูกต้อง โดยเฉพาะเสียง ร ล และเสียงควบกล้ำ เพราะบางครั้งการออกเสียงไม่ถูกกต้องจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่พูดผิดไปได้
พูดให้สุภาพ ระมัดระวังการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคล โอกาส และสถานที่
ไม่พูดข่มขู่ดึงดันเพื่อเอาชนะผู้อื่น
อย่าขัดคอคู่สนทนาเพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้
ไม่ควรข้ามไปพูดเรื่องอื่น ในขณะที่คู่สนทนากำลังสนใจหรือเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องเดิมอยู่ เพราะจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่อง โดยไร้มารยาท และคู่สนทนาอาจน้อยใจหรือไม่พอใจได้
ไม่ผูกขาดการพูดไว้คนเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรทำตัวเป็นเพียงผู้รับฟังอย่างเดียว ควรซักถามหรือพูดจาโต้ตอบในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ฟังที่ดี และสนใจเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่
ไม่ควรนินทาผู้อื่น เพราะอาจทำให้คู่สนทนาไม่ไว้วางใจได้
ไม่ควรถามซอกแซกในเรื่องส่วนตัวของผู้ที่เพิ่งรู้จักกัน เพราะจะทำให้คู่สนทนาเกิดความอึดอันได้
ไม่ควรซุบซิบ หรือ ใช้ภาษาถิ่น หรือใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มกับคนใดคนหนึ่งในวงสนทนา
เรื่องที่สนทนาควรเป็นเรื่องกลางๆ ที่ทุกคนสนใจ เช่น กีฬา ดินฟ้าอากาศ ภาพยนตร์ ฯลฯ
เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในระหว่างการสนทนา ต้องพยายามไกล่เกลี่ยไม่ให้เกิดความร้าวฉานหรือความหมองใจขึ้นได้ โดยอาจเปลี่ยนหัวข้อสนทนา ไปสู่เรื่องที่ไม่ตึงเครียด และถ้าจำเป็นต้องฟังเรื่องที่ไม่สบอารมณ์หรือไม่ชอบ ควรฟังอย่างสงบอย่าลุกหนีไปเฉยๆ
การสนทนาทางโทรศัพท์
โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกยุคปัจจุบัน การสนทนาทางโทรศัพท์ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่อย่าไรก็ตามผู้พูดจะต้องระมัดระวัง ในการพูดทางโทรศัพท์มากกว่าการสนทนาต่อหน้า เพราะผู้ที่เราติดต่อด้วยไม่ได้เห็นหน้าตาของเราจึงมักจะเดาบุคลิกภาพของเราจากน้ำเสียงที่ได้ฟัง ดังนั้นผู้พูดทางโทรศัพท์จึงต้องสร้างภาพอันดีงามให้แก่ตนเอง โดยการใช้คำพูดที่สุภาพอยู่เสมอ ปรับสียงให้นุ่มนวล ไม่ห้วนกกระด้าง พูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่รวบรัดจนฟังไม่เข้าใจ และขณะพูดก็ไม่ควรเคี้ยวหรืออมสิ่งใดไว้ เพราะจะทำให้เสียงพูดไม่น่าฟัง
ข้อควรคำนึงในการสนทนาทางโทรศัพท์ มีดังนี้
- ในการฝากข้อความไว้กับผู้รับโทรศัพท์ ถ้าผู้พูดประสงค์จะฝากข้อความที่สำคัญไว้กับผู้รับโทรศัพท์ในขณะที่ผู้พูดประสงค์จะติดต่อด้วยไม่อยู่ ผู้พูดควรจะสอบถามก่อนว่าผู้ที่จะฝากข้อความไว้เป็นใคร มีหน้าที่อะไร เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าสมควรจะฝากข้อความสำคัญไว้หรือไม่
- ในการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม ผู้พูดต้องตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าก่อนว่าต้องการทราบเกี่ยวกับอะไร แล้วจดบันทึกคำถามไว้อย่างย่อ ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ลืมเวลาพูดโทรศัพท์ในลักษณะของคำถามควรสั้น และเข้าใจง่ายเพื่อผู้รับฟังโทรศัพท์จะได้ตอบให้ตรงประเด็น เมื่อพูดจาจบแล้วควรขอบคุณผู้รับโทรศัพท์ด้วย
- ในการต่อโทรศัพท์ให้ผู้อื่น ผู้พูดควรจดเลขหมายโทรศัพท์ และชื่อบุคคล หรือหน่วยงานที่เขาประสงค์จะพูดด้วยให้ถูกต้องครบถ้วน
- ในกรณีที่ผู้พูดเป็นผู้รับโทรศัพท์ เมื่อรับโทรศัพท์ควรบอกชื่อหน่วยงานของผู้พูดหรือเลขหมายโทรศัพท์ในทันที แต่ถ้าหากเขามารับสายไม่ได้ควรบอกเหตุผลอย่างนุ่มนวล และขอให้สั่งข้อความไว้
- ถ้ามีการโทรศัพท์เข้ามาผิดสถานที่ หากเป็นหน่วยงานเดียวกันควรโอนสายหรือบอกเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ให้ แต่ถ้าเป็นคนละหน่วยงานหรือผิดสถานที่ควรบอกให้ผู้โทรศัพท์เข้ามาทราบอย่างสุภาพ
ข้อแนะนำในการสนทนาทางโทรศัพท์ มีดังนี้
- รับโทรศัพท์ในทันทีที่กริ่งแรกดังขึ้น
- ไม่กระแทรกเครื่องรับโทรศัพท์
- ควบคุมอารมณ์อย่าได้แสดงอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ อย่าพูดด้วยเสียงที่ก้าวร้าวหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย และไม่ใช้คำพูดที่กวนไม่รู้เรื่อง
- อย่าตะโกนเรียกผู้อื่นมารับโทรศัพท์โดยไม่ได้ปิดส่วนที่พูด และอย่าพูดกับผู้อื่นในขณะที่กำลังรับโทรศัพท์
- ควรมีกระดาษ และปากกา วางไว้ใกล้โทรศัพท์ เมื่อมีการรับฝากข้อความ ควรจดให้อ่านง่าย และอ่านทบทวนก่อนส่งให้ผู้รับ
- การพูดทางโทรศัพท์ต้องแสดงความสุภาพ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเหมือนกันหมด ไม่ว่าผุ้ที่โทรศัพท์เข้ามาหรือผู้รับโทรศัพท์จะเป็นคนสำคัญหรือไม่
- ถ้าพิจารณาเห็นว่าผู้โทรศัพท์เข้ามาจะต้องคอยนานกว่าที่จะได้พูดกับบุคคลที่ต้องการหรือกว่าที่จะได้รายละเอียด ควรบอกให้ผู้นั้นโทรศัพท์เข้ามาใหม่ หรือขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้นั้นไว้ เพื่อจะได้ติดต่อกลับไปอีกครั้ง
- ถ้าต่อโทรศัพท์ผิดเลขหมายไม่ควรวางหูโดยทันที ควรกล่าวคำขอโทษอย่างสุภาพก่อน
- ไม่ควรใช้คำพูดหรือคำถามเหล่านี้ในการสนทนาทางโทรศัพท์ เช่น "ที่นั่นที่ไหนคะ?" "ใครพูด" "จะพูดกับใคร" "มีธุระอะไร" "โทรมาทำไม" เป็นต้น
- ถ้าต้องรอโทรศัพท์ไม่ควรแสดงกิริยาอาการหรือพูดให้ผู้ที่กำลังโทรศัพท์อยู่รีบหยุดพูดโดยเร็ว ควรรอด้วยความอดทน ส่วนผู้ที่กำลังใช้โทรศัพท์ก็ควรพูดธุรกิจให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อที่ผู้อื่นจะได้ใช้บ้าง
- หากต้องติดต่อทางโทรศัพท์กับหน่วยงานอื่นอยู่บ่อยๆ ควรจัดทำแผนผังแสดงเลขหมายโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่ออยู่เป็นประจำ โดยแยกเป็นหมวดหมู่ไว้ เช่น บริษัทนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม สถานทูต โรงพยาบาล และสถานที่ราชการต่างๆ เป็นต้น ในแต่ละหมวดควรจัดเรียงลำดับตามอักษรเพื่อสะดวกต่อการค้นหา
ในเรื่องการสนทนาทางโทรศัพท์นี้ เพชรบูรณ์ โรจนธรรมกุล ได้ให้เคล็ดลับขั้นตอนในการต่อโทรศัพท์ และรับโทรศัพท์ไว้ดังนี้
ขั้นตอนในการต่อโทรศัพท์
๑. พร้อม ความพร้อมก่อนหมุนหรือกดเลขหมายโทรศัพท์
๒. ฟัง ฟังสัญญาณว่าโทรศัพท์มีสัญญาณว่างที่จะโทรได้
๓. หมุน หมุนหรือกดเลขหมายที่ต้องการ
๔. ฟัง ฟังคำพูดจากผู้รับ หรือสอบถามเลขหมาย/สถานที่
๕. ตัด ตัดสินใจดำเนินการตามที่เตรียม เช่น
- ขอพูดกับบุคคลที่ต้องการ
- ฝากข้อความ และให้ผู้รับทวนข้อความ
๖. จบ จบคำพูด
๗. วาง วางโทรศัพท์
๘. บัน บันทึกรายการภายหลังโทรศัพท์แล้ว
สูตร
พร้อม ฟัง หมุน ฟัง ตัด จบ วาง บัน
ขั้นตอนในการรับโทรศัพท์
๑. พร้อม เตรียมพร้อม
๒. รับ รับโทรศัพท์เมื่อกริ่งแรกดังขึ้น (พร้อมอัดเทปการพูดไว้นับแต่เวลานี้จนจบ)
๓. ทัก กล่าวทักทายว่า "สวัสดีค่ะ/ครับ" แล้วบอกสถานที่หรือเลขหมายโทรศัพท์
๔. ฟัง ฟังคำพูดให้ชัดเจน
๕. ตัด ตัดสินใจดำเนินการอย่างรวดเร็ว และถูกต้องด้วยความเอาใจใส่อย่างจริงใจ เช่น
- ตอบคำถาม
- โอนสาย
- รับเรื่องไว้
- ให้รอสาย
๖. จบ จบคำพูด
๗. วาง วางหูโทรศัพท์
๘. บัน บันทึกข้อความ และดำเนินการต่อไป
สูตร
พร้อม รับ ทัก ฟัง ตัด จบ วาง บัน
การพูดในโอกาสพิเศษ
การอภิปราย
คำว่า "อภิปราย" เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง "ก. พูดชี้แจงแสดงความคิดเห็น"
จบการนิยามความหมายของคำว่า "การอภิปราย (Discussion)"โดยนักวิชาการหลายท่านพอจะสรุปได้ว่าการอภิปราย หมายถึง การพูดเพื่อแสดงความคิด ความเห็น ความรู้ หรือประสบการณ์ของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปให้อีกกฝ่ายหนึ่งได้รับทราบ โดยผู้อภิปรายจะต้องแสดงความคิด ความเห็น ความรู้ หรือประสบการณ์ในหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้ให้ โดยแต่ละคนอาจจะมีแนวความคิดที่เหมือนกันหรือแตกต่างออกไปก็ย่อมทำได้ เพราะการพูดแบบอภิปรายนั้นเป็นการเปิดโอกาสผู้ร่วมอภิปรายได้ใช้ความรู้ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่
หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอภิปราย
กิจกกรรมการอภิปราดำเนินไปได้ด้วยดี และเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ทุกฝ่ายนั้นจำเป็นจะต้องมีหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดบ้าง มิฉะนั้นผู้อภิปรายก็จะอภิปรายกันอย่างกระจัดกระจายตามความพอใจของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว อันอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นในวงอภิปรายได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปในการอภิปรายมีดังนี้
๑. การอภิปรายเป็นการแสดงความคิดร่วมกันกับผู้อื่นเพื่อช่วยกันหาคำตอบ ดังนั้นในการคิดร่วมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบนั้น จำเป็นต้องช่วยกันคิดเป็นขั้นๆ ไป จะได้ไม่เกิดความสับสน ลำดับขั้นในการคิดอาจเป็นดังนี้
ขั้นที่ ๑ ผู้ร่วมอภิปรายพยายามทำความเข้าใจในตัวปัญหาให้ตรงกันเสียก่อน เพราะถ้าเข้าใจต่อปัญหาไม่ตรงกันแล้ว ย่อมไม่มีการตกลงกันได้ ซึ่งยิ่งอภิปรายไปก็ยิ่งเพิ่มความสับสนขึ้นทุกที ดังนั้นข้อสำคัญจึงไม่ควรรีบทึกทักว่า ทุกคนเข้าใจ ต่อปัญหาตรงกันแล้ว ควรจะต้องชี้ปัญหาให้ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียก่อน ด้วยการเขียนลงไปให้เป็นประโยคคำถาม แล้วอ่าน ให้ทุกคนฟัง เขียนให้ชัดเจนเพียงหนึ่งคำถาม จะมีคำถามย่อยด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีก็ไม่ควรให้มากเกินไปนัก ขั้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก เพระมิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าพูดกันคนละปัญหาไป
ขั้นที่ ๒ เมื่อเข้าใจปัญหาตรงกันแล้วก็ก็ช่วยกันพิจารณาปัญหานั้น โดยแยกแยะให้เห็นว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหามีอะไร มีใครที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ไขปัญหานั้นบ้าง ซึ่งในขั้นนี้ผู้ร่วมอภิปราย ควรจะร่วมตกลงกันให้ได้ว่า ถ้าจะแก้ปัญหานั้นผลที่มุ่งหวังคืออะไร ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยกันคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปในขั้นที่ ๓
ขั้นที่ ๓ ช่วยกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมทั้งพิจารณาดูข้อดีข้อเสีย ของแนวทาง แก้ปัญหาเหล่านั้น โดยพิจารณาด้วยว่าผลที่คาดว่าจะได้จาการแก้ปัญหานั้นเป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้ในขั้นที่ ๒ หรือไม่เพียงใด
ขั้นที่ ๔ เลือกแนวทางในการแก้ปัญหาที่เห็นว่าดีที่สุด ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งแนวทางก็ได้
ขั้นที่ ๕ ศึกษาแนวทางในเชิงปฏิบัติการว่า ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่ผู้ร่วมเสนอภิปราย ได้ช่วยกันคิดออกมานั้น จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ได้อย่างไร ในบางกรณีผู้ร่วมอภิปรายอาจลองนำไปปฏิบัติด้วยตนเองก่อน

๒. ในการอภิปรายจำเป็นต้องมี "ผู้นำอภิปราย" เพื่อคอยกำกับให้คำแสดงความคิดเห็นตรงตามประเด็นที่ตั้งไว้ ซึ่งผู้นำอภิปราย จะทำหน้าที่ทั้งคอย กระตุ้นให้ผู้อภิปราย แสดงความคิดเห็นออกมา และควบคุมไม่ให้ผู้อภิปรายคนใดคนหนึ่งใช้เวลาของรวมแสดงความคิดเห็นของตนเองมากเกินไป จนเป็นการผูกขาดพูดเสียคนเดียว นอกจากนี้ยังต้องคอนระวังไม่ให้การอภิปรายออกนอกประเด็นเพื่อจะได้หาข้อยุติได้ภายในเวลาอันสมควร

๓. ในการอภิปราย ผู้ร่วมอภิปรายอาจเปลี่ยนความคิดเห็นของตนไปตามเหตุผล และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้รับฟังจากผู้ร่วมอภิปรายคนอื่น หลักข้อนี้สำคัญมาก เพราะการอภิปรายไม่ใช่การโต้เถียงเพื่อเอาชนะแต่เป็นการช่วยกันแสดงความคิดเห็น ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นความเชื่อหรือ ความเข้าบางอย่าง ที่ผู้ร่วมอภิปรายคนใดคนหนึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว อาจเปลี่ยนไปได้เมื่อได้ฟังเหตุผลหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่มีน้ำหนักมากกว่า

๔. ผู้ร่วมอภิปรายควรมีความเตรียมตัวมาก่อน เพื่อให้มีข้อมูลมากพอสำหรับการพิจารณาร่วมกัน เพราะถ้าหากผู้ร่วมอภิปรายเข้าร่วมอภิปราย โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าแล้ว ย่อมจะขากข้อมูล ขาดความมั่นใจ และขาดความกระตือรือร้นที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในวงอภิปราย

๕. ในการอภิปรายต้องใช้ทักษะในการพูด และการฟังเป็นพิเศษ ในด้านทักษะในการพูดผู้ร่วมอภิปราย จำเป็นต้องพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นของตน อย่างสุภาพ รวบรัด และตรงประเด็น ผู้ที่มีทักษะในการพูดต่อหน้าที่ประชุมอาจจะไม่มีทักษะในการอภิปรายกลุ่มก็ได้ เพราะคุ้นเคยกับ การผูกขาดการพูด เสียคนเดียว และอาจจะใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจมากเกินไปก็ได้ การพูดในเชิงอภิปรายจะหนักไปทางการพูดเพื่อค้นหาคำตอบ และพูดเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจมากกว่าในทางอื่น สำหรับทักษะในการฟังนั้น ผู้อภิปรายต้องฟังคำพูดของผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ โดยใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา ต้องจับสาระสำคัญ ที่ผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ พูดออกมาให้ได้ ต้องรู้จักสังเกตถ้อยคำ น้ำเสียง และกิริยาท่าทางของผู้พูดประกอบด้วย เพื่อจะได้ตีความได้ตรงตามที่ผู้พูดมุ่งหมายจริงๆ
การแบ่งประเภทการอภิปราย
การอภิปรายแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ การอภิปรายในกลุ่ม และการอภิปรายหน้าที่ประชุม
๑. การอภิปรายในกลุ่ม แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑.๑ การอภิปรายอย่างเป็นกันเอง
การอภิปรายประเภทนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับการสนทนากันเป็นกลุ่ม แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าผู้ที่ร่วมอยู่ในวงสนทนานั้น มีวัตถุประสงค์ในการสนทนาที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น ต้องการทำความเข้าใจหรือต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการพูดจากนอย่างเป็นกันเอง แต่ก็มีขั้นตอนในการคิดร่วมกันเป็นระยะ ๆ ไป การอภิปรายอย่างเป็นกันเองนี้แม้จะไม่มีผู้นำอภิปรายอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาจเกิดผู้นำในการอภิปรายขึ้นได้โดยไม่รู้สึกตัว

๑.๒ การอภิปรายในการประชุมปรึกษา
การอภิปรายประเภทนี้ ตามปกติแล้วจะกระทำกันอย่างมีระเบียบแบบแผน อาจจะเป็นในรูปคณะกรรมกการ คณะผู้ปฏิบัติงาน หรือคณะบุคคล ที่เข้าร่วมประชุม กลุ่มย่อยในโอกาสต่างๆ การอภิปรายประเภทนี้จะมีประธานของที่ประชุมทำหน้าที่เป็นผู้อภิปราย มีเลขานุการ ทำหน้าที่บันทึก รายงานการอภิปราย มักจะอภิปรายกันตามหัวข้อหรือตามวาระที่กำหนดไว้ ผู้ร่วมอภิปรายจะปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้ได้มติหรือข้อสรุปออกมา หรือเพื่ออาจตัดสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้
การอภิปรายประเภทนี้คล้ายๆ กับการอภิปรายอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า "การอภิปรายโต๊ะกลม" ซึ่งเป็นการประชุมของคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งประกอบไปด้วยผู้นำประชุม และผู้เข้าประชุม ซึ่งทั้งผู้นำประชุม และผู้เข้าประชุมจะนั่งล้อมรอบโต๊ะ เป็นวงกลมโดยไม่จำเป็น ต้องนั่ง โต๊ะกลมเสมอไป อาจใช้เฉพาะเก้าอี้ล้อมเป็นวงก็ได้ มักจะอภิปรายกันในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ เช่น ปัญหาการกักตุนสินค้า การอนุรักษ์สภาวะแวดล้อม เป็นต้น ผลของการอภิปรายโต๊ะกลม อาจนำมาเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้พิจารณา ดำเนินการต่อไป และบางทีก็อาจเผยแพร่ต่อสาธารณะชนด้วย
๒. การอภิปรายหน้าที่ประชุม แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๒.๑ การอภิปรายเป็นคณะ
การอภิปรายประเภทนี้ ประกอบด้วย ผู้ดำเนินการอภิปราย และคณะผู้อภิปรายซึ่งมีประมาณ ๔-๘ คน (อาจมากหรือน้อยกว่านั้นบ้างเล็กน้อยก็ได้) มาทำการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยเบื้องหน้าของที่ประชุมประกอบไปด้วยผู้ฟังจำนวนมาก การอภิปรายประเภทนี้ จะมีหัวข้อ กำหนดไว้แน่นอน ผู้ดำเนินการอภิปรายจะมีการเตรียมเค้าโครง และขั้นตอนในการอภิปรายไว้ด้วยเพื่อไม่ให้การอภิปรายออกนอกประเด็น

๒.๒ การอภิปรายเชิงบรรยาย
การอภิปรายประเภทนี้จะมีผู้ดำเนินการอภิปราย และผู้อภิปรายอยู่จำนวนหนึ่งที่นำการอภิปรายเบื้องหน้าที่ประชุม เช่นเดียวกับ การอภิปราย เป็นคณะ แต่แตกต่างกันตรงที่การอภิปรายประเภทนี้ ผู้อภิปรายแต่ละคนจะใช้วิธีการบรรยายอย่างสั้นๆ ตามที่ตนได้เรียบเรียงมาไว้แล้วเป็นอย่างดี การบรรยายของแต่ละคนจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ผู้ดำเนินการอภิปรายจะทำหน้าที่ย้ำให้เห็นความสำคัญของหัวข้อบรรยายของผู้อภิปรายแต่ละคน อาจสรุปสารระสำคัญที่ได้พูดไปแล้วอย่างรวบรัด และชี้ให้ผู้ฟังเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างแง่มุมต่างๆ ที่ผู้บรรยายแต่ละคนได้บรรยายไปแล้ว
ในการอภิปรายหน้าที่ประชุมทั้ง ๒ แบบนี้ ผู้ดำเนินการอภิปรายมีหน้าที่แนะนำผู้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมอย่างสั้น ๆ โดยบอกชื่อ นามสกุล สถานที่ทำงาน และความรู้ความชำนาญพิเศษให้ที่ประชุมทราบตามสมควร
การจัดสถานที่ในการอภิปราย
สถานที่ในการอภิปรายมีความสำคัญไม่น้อย เพราะถ้าสถานที่ไม่เหมาะสมแล้วการอภิปรายก็ยากที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี หลักทั่วไปในการจัดสถานที่ ในการอภิปรายคือ
๑. สถานที่ควรสงบปราศจากเสียงรบกวน
๒. ตำแหน่งที่นั่งของผู้อภิปราย ควรจัดให้ทุกคนมองเห็นกันได้
๓. บรรยากาศทั่วไป และความสะดวกอื่นๆ ช่วยเอื้ออำนวยในการคิดร่วมกันดำเนินไปได้ด้วยดี
การโต้วาที
ดร. สุจริต เพียรชอบ ได้อธิบายถึงการโต้วาทีอย่างน่าสนใจว่า การโต้วาที คือ กิจกรรมการพูดที่บุคคลสองฝ่ายพูดโต้คารมหรือ ถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้พูดจะพยายามใช้ศิลปะการพูด หรือวาทศิลป์อันคมคาย ใช้หลักการ เหตุผล และหลักฐานต่างๆ เพื่อให้คำพูดของตน เป็นที่น่าเชื่อถือ และโน้มน้าวใจ ให้ผู้ฟัง เกิดความคิดคล้อยตาม การโต้วาทีเป็นการอภิปรายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจาการอภิปรายแบบอื่น คือ ในการอภิปรายโดยทั่วๆ ไปนั้น ผู้ร่วมอภิปราย จะแสดง ความคิดเห็นแย้งกันบ้าง คล้อยตามกันบ้าง หรืออาจจะเป็นความคิดที่ประนีประนอมกัน แต่สำหรับการโต้วาทีนั้น ผู้พูดมุ่งเอาชนะกันด้วยเหตุผลหรือวาทศิลป์
การโต้วาทีมี ๒ ลักษณะ คือ การโต้วาทีโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน และการโต้วาทีโดยมีรูปแบบ
๑. การโต้วาทีโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน
อันที่จริงแล้วในชีวิตประจำวันของคนเราก็มักจะมีการถกเถียงโต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยผู้เสนอนโยบายจะพยายามให้หลักการ เหตุผล และวาทศิลป์อย่างดี เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความคิดคล้อยตามรับหลักการ และนโยบายเหล่านั้น ผู้ฟังบางคนอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วยก็จะพยายาม ซักถาม และให้เหตุผลต่างๆ คัดค้าน มีการถกเถียงโต้ตอบกันไปมาจนในที่สุดก็อาจจะต้องมีการลงมติกันว่า จะยึดถือหรือดำเนินการตามนโยบาย หรือหลักการนั้นหรือไม่ การถกเถียงหรือโต้แย้งกันในสภาหรือในศาลก็เช่นเดียวกัน มักจะต้องแสดงความเคารพเอาชนะกันด้วยคำพูด และเหตุผลอยู่เสมอ แม้แต่การพูดคุยกันในชีวิตประจำวันก็มักจะต้องมีการพูดจาโต้แย้ง แสดงเหตุผลกันอยู่เป็นนิจ

๒. การโต้วาทีโดยมีรูปแบบ
เป็นการโต้วาทีที่เป็นแบบแผน มีพิธีการ มีการจัดสถานที่ไว้สำหรับผู้โต้วาทีโดยแบ่งออกกันเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้าน แต่ละฝ่าย ก็จะมีผู้สนับสนุน ฝ่ายละสองคนบ้างสามคนบ้างตามแต่ผู้จัดจะเห็นสมควร มีประธานเป็นผู้ดำเนินการ มีการเชิญคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นผู้ตัดสิน ว่าฝ่ายใดมีคารมคมคาย ใช้เหตุผลดี มีความสามารถในการพูดก็จะตัดสินให้เป็นฝ่ายชนะ การโต้วาทีแบบนี้จะต้องดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ประธานจะต้องกล่าวเปิดการโต้วาที ประกาศญัตติให้ผู้ฟังทราบว่าจะโต้กันเรื่องอะไร แต่ละฝ่ายจะใช้เวลาในการพูดคนละกี่นาที วิธีการตัดสินเป็นเช่นไร
จุดมุ่งหมายของการโต้วาที มีหลายประการ คือ
๑. เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาทีรู้จักเสนอความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องตามปรารถนา รู้จักพูดอย่างมีหลักการ และมีเหตุผล เมื่อถึงเวลาที่จะแสดงความคิดเห็น คัดค้านก็สามารถใช้วาทศิลป์โต้แย้งข้อคิดเห็น ของผู้อื่นอย่างฉลาดมีไหวพริบ
๒. เพื่อส่งเสริมให้ผู้พูดสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังให้มีความคิดคล้อยคามความคิดเห็นของตน
๓. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจในการพูด ได้ศึกษาหลักเกณฑ์ และศิลปะในการโต้วาที และฝึกฝนเพื่อให้มีทักษะในการพูดดียิ่งขึ้น
๔. เพื่อฝึกทักษะในการฟัง ให้เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่หลงเชื่อคำพูดของผู้ใดโดยง่าย ในขณะที่ฟังก็จะได้คิดใคร่ครวญอย่างมีเหตุผล
การเลือกญัตติของการโต้วาที
ญัตติ คือ หัวข้อหรือปัญหา ซึ่งระบุขอบข่าย และข้อขัดแย้งซึ่งจะนำมาใช้โต้วาทีได้ เพราะฉะนั้นความจริงที่เป็นอมตะ เช่น การเกิดแก่เจ็บตาย จึงไม่อาจนำมาเป็นญัตติในการโต้วาทีได้ หลักวิชาที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง เช่น หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจที่จะนำมาใช้โต้วาทีได้ เพราะไม่มีข้อที่จะมาเถียงหรือคัดค้านได้
ญัตติที่ควรใช้โต้วาที ควรมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว ยั่วยุให้คิดไปได้หลายแง่หลายมุม ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่น "มีปัญญาดีกว่าทรัพย์" "ประสบการณ์ดีกว่าการศึกษา" เป็นต้น
เกณฑ์ในการเลือกญัตติ
๑. เป็นเรื่องที่คนในสังคมส่วนใหญ่มีความสนใจ
๒. เป็นเรื่องที่มีสารประโยชน์ผู้ฟังได้รับความรู้เกิดความคิด และมีสติปัญญาแตกฉาน และลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม
๓. ญัตตินั้นไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม หรือ ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้นในหมู่คณะ
๔. ญัตตินั้นควรเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ เสียเปรียบกัน ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มโต้วาที
๕. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย หลักการ หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ซึ่งเมื่อโต้คารมกันไปแล้ว จะเกิดประโยชน์ และมีความก้าวหน้าในเรื่องนั้นๆ
๖. เป็นญัตติที่เข้าใจง่าย ใช้ข้อความสั้นๆ ถ้อยคำชัดเจน
การจัดบุคคลเพื่อการโต้วาที
บุคคลที่เกี่ยวข้องในการโต้วาทีมีดังนี้ คือ
๑. ประธานการโต้วาที ๑ คน
๒. ผู้โต้วาทีฝ่ายเสนอ ๓-๔ คน ประกอบด้วย
หัวหน้าฝ่ายเสนอ ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๑ ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๒ ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๓ ๑ คน
๓. ผู้โต้วาทีฝ่ายค้าน ๓-๔ คน ประกอบด้วย
หัวหน้าฝ่ายค้าน ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๑ ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๒ ๑ คน
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๓ ๑ คน
๔. ผู้ตัดสิน ๒-๓ คน
๕. ผู้จับเวลา ๒ คน
การจัดที่นั่ง
การจัดที่นั่งเพื่อการโต้วาทีนั้นนิยมจัดให้ผู้โต้วาทีทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ประธาน ผู้โต้ฝ่ายเสนอ และผู้โต้ฝ่ายค้าน นั่งบนเวทีหันหน้าเข้าหาผู้ฟัง แบ่งเป็น ๒ แถว เรียงหน้ากระดานหรือเฉียงเล็กน้อยประธานมีที่นั่งแยกออกต่างหาก อาจจะนั่งอยู่ตรงกลางหรือนั่งอยู่ข้างๆ ก็ได้ ที่นั่งของหัวหน้าฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้านนั้นมักจะนั่งอยู่ตรงข้าม ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายก็จะนั่งเรียงตามลำดับ และมักจะนั่งเรียงกันตามลำดับผู้พูดก่อนหลัง บนเวทีจะมีแท่นยืนแยกออกมาเป็นพิเศษ มักจะล้ำออกมาข้างหน้าเวทีเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นได้ชัด แต่ไม่ควรบังผู้อื่น
นอกจากการจัดที่นั่งสำหรับผู้โต้วาทีแล้ว เจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้ตัดสิน ผู้จับเวลา อาจจัดให้นั่งบนเวทีใกล้ๆ กับประธาน หรืออาจจะจัดให้นั่งด้านหน้าผู้ฟังก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของเวทีหรือแล้วแต่ผู้จัดสถานที่จะเห็นสมควร
กำหนดเวลา
เวลาที่ใช้ในการโต้วาทีนั้นไม่ได้มีกฎข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ตายตัวว่าจะใช้เวลานานเท่าใด ปริมาณเวลายืดหยุ่นหรือมีความคล่องตัวพอสมควร ผู้จัดโต้วาทีอาจกำหนดเวลาได้ตามความเหมาะสม ซึ่งตามปกติแล้วการโต้วาทีจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง ถ้าเป็นการโต้วาทีในชั้นเรียนเพื่อการฝึกฝนมักจะใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการโต้วาทีในที่ประชุมสาธารณะซึ่งมีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก จะใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง
การกำหนดเวลาสำหรับผู้โต้วาทีแต่ละคน อาจทำได้ดังนี้ คือ
๑. ประธานการโต้วาทีกล่าวเปิดการโต้วาที ระบุญัตติที่จะโต้ และแนะนำผู้โต้ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาได้ตามความเหมาะสมตามที่ประธานกำหนดเอง แต่ควรระวังว่าไม่ควรใช้เวลานานจนเกินไปนัก
๒. หัวหน้าฝ่ายเสนอ ใช้เวลาเสนอเหตุผลต่างๆ ใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที
๓. หัวหน้าฝ่ายค้าน ใช้เวลาพูดค้านข้อเสนอของฝ่ายเสนอ ใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที เช่นเดียวกัน
๔. ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้านแต่ละคน ใช้เวลาพูดประมาณคนละ ๓-๕ นาที
๕. หัวหน้าฝ่ายค้านกล่าวสรุป ใช้เวลาประมาณ ๓-๘ นาที
๖. หัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวสรุป ใช้เวลาประมาณ ๓-๘ นาที
๗. ประธานการโต้วาทีสรุปผลการตัดสินโต้วาที และกล่าวปิดการโต้วาทีใช้เวลาพูดตามความเหมาะสม
การกำหนดเวลาดังที่ได้เสนอมานี้เป็นเพียงแนวทาง อาจจะกำหนดเวลาให้มากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ตามความเหมาะสม
วิธีดำเนินการโต้วาที
การโต้วาที ควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังนี้คือ
๑. ประธานการโต้วาทีกล่าวเปิดการอภิปรายเสนอญัตติที่จะอภิปราย กล่าวขยายความเล็กน้อย จากนั้นกล่าวแนะนำผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย แนะนำการตัดสิน และผู้จับเวลาชี้แจงเรื่องกำหนดเวลาที่ผู้โต้แต่ละคนจะต้องใช้ วิธีการตัดสิน จากนั้นเชิญผู้โต้แต่ละคนขึ้นพูด เริ่มด้วยหัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้านตามลำดับ
๒. หัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวเสนอเหตุผลต่างๆ เป็นประเด็นๆ ไป โดยระบุประเด็นที่สำคัญ ๆ เป็นการเริ่มต้นการถกเถียงโต้คารม
๓. หัวหน้าฝ่ายค้าน พูดค้านประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายเสนนอได้กล่าวมาแล้วถ้าเป็นไปได้ควรค้านทุกประเด็น แต่ถ้ามีเวลาจำกัดเลือกค้านแต่ประเด็นที่สำคัญ จากนั้นก็เสนอประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการเสนอบ้าง
๔. ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนหนึ่ง กล่าวคัดค้านประเด็นที่ฝ่ายค้านกล่าวค้าน และเสนอประเด็นใหม่มา เมื่อโต้คารมคัดค้านประเด็นต่างๆ หมดแล้ว ก็เสนอประเด็นใหม่เพื่อเพิ่มเป็นการเสริม และสนับสนุนฝ่ายเสนอ
๕. ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่หนึ่งโต้คารมคัดค้านประเด็นของผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอให้ครบทุกประเด็นใช้เวลาเท่ากับเวลาที่ผู้สนับสนุน ฝ่ายเสนอคนที่หนึ่งใช้ นอกจากการค้านแล้วควรเสนอประเด็นสำคัญๆ ที่ทางฝ่ายค้านต้องการเพิ่มเติมได้อีก
๖. ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่สอง กล่าวค้านประเด็นที่ฝ่ายค้านกล่าวมา ถ้าประเด็นใดผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอยังไม่ได้ค้านพยายามค้านให้หมด แล้วจึงเสนอประเด็นสำคัญๆ เพิ่มเติมเข้าไปใหม่ เพื่อให้การโต้วาทีดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกัน ใช้เวลาในการพูดเท่ากับผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่หนึ่ง
๗. ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่สอง กล่าวค้านประเด็นทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่ และค้านเพิ่มเติม
๘. หัวหน้าฝ่ายค้านกล่าวสรุปการค้านทั้งหมด ชี้ให้เห็นเป็นประเด็นๆ ไป พยายามชี้แจงให้เห็นชัดเจน
๙. หัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวสรุปข้อเสนอทั้งหมด และกล่าวค้านฝ่ายค้านในประเด็นสำคัญๆ ที่เห็นสมควรจะต้องคัดค้าน
๑๐. ประธานการโต้วาทีเชิญผู้ตัดสินหรือหัวหน้าคณะผู้ตัดสิน วิจารณ์การโต้วาที และเสนอผลการตัดสินการโต้วาที จากนั้นประธานกล่าวขอคุณผู้โต้วาทีทุกฝ่าย แล้วกล่าวปิดการโต้วาที
ข้อควรสังเกต
ประธานการโต้วาที กรรมการตัดสิน และผู้จับเวลา ควรรักษาเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรปล่อยให้ผู้โต้วาทีคนใดคนหนึ่งพูดเกินเวลา ควรมีสัญญาณเตือนก่อนหมดเวลาสักเล็กน้อย และพอหมดเวลาแล้วควรให้เสียงสัญญาณ หากผู้โต้วาทีไม่ยอมเลิกพูด ประธานการโต้วาทีควรพูดเตือนให้จบการพูด การโต้คารมหักล้างกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้ด้วยอารมณ์หรือเป็นเรื่องส่วนตัว การพูดควรคำนึงถึงเนื้อหาสาระ และประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับด้วย การใช้คารมคมคาย และความขบขันช่วยให้บรรยากาศในการโต้วาทีดีขึ้น แต่ไม่ใช่จะตลกไปตลอดรายการจนหาสาระอันใดมิได้ นอกจากนั้นการใช้ภาษาในการโต้วาที ควรคำนึงถึง ความสุภาพ และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้ด้วย
หน้าที่ของบุคคลฝ่ายต่างๆ
บุคคลที่มีส่วนร่วมในการโต้วาทีควรมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
๑. ประธานการโต้วาที ประธานในการโต้วาที มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบ และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ
๑.๑ เปิดการโต้วาที ด้วยการกล่าวนำ และเสนอญัตติให้ผู้ชมทราบว่าจะโต้วาทีกันในเรื่องใด
๑.๒ แนะนำผู้ร่วมโต้วาทีทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้าน แนะนำเป็นรายบุคคล โดยเริ่มจากหัวหน้าฝ่ายเสนอก่อนแล้วจึง และนำผู้สนับสนุนฝ่ายเสนนอคนที่ หนึ่ง สอง สาม ตามลำดับ หลังจากนั้นจึงแนะนำหัวหน้าฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน การแนะนำนั้นควรแนะนำเป็นรายบุคคล บอกชื่อ บอกนามสกุล บอกความสามารถ ความชำนาญพิเศษ และประสบการณ์ที่น่าสนใจ
๑.๓ แนะนำกรรมการผู้ตัดสินการโต้วาที และกรรมการจับเวลา
๑.๔ อธิบายให้ผู้โต้วาที และผู้ฟังเข้าใจตรงกันในด้านกำหนดเวลา ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาในการพูดนานเท่าใด
๑.๕ ประสานงาน และดำเนินการโต้วาทีให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เช่น เชิญหัวหน้าทั้งฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้พูดตามลำดับ
๑.๖ รักษาเวลาในการโต้วาที คอยเตือนผู้พูดเมื่อหมดเวลาแล้ว ในบางกรณีประธานจะเป็นผู้จับเวลา และกดกริ่งเตือนด้วยตนเอง ประธานอาจเตือนผู้พูดเรื่องเวลาด้วยกริ่งสัญญาณหรือด้วยวาจาก็ได้
๑.๗ เชิญกรรมการผู้ตัดสินชี้แจงผลการโต้วาที แต่ในบางกรณีเมื่อกรรมการรวมคะแนนเสร็จแล้ว จะขอให้ประธานการโต้วาที เป็นผู้ชี้แจงผลการตัดสิน
๑.๘ สรุป และกล่าวปิดการโต้วาที

๒. หัวหน้าฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๒.๑ ใช้คำจำกัดความของญัตติ ด้วยการให้ความหมายทางภาษา และความหมายของญัตติโดยส่วนรวม กล่าวถึงขอบเขตของญัตติ
๒.๒ ชี้ให้ผู้ฟังเห็นข้อเท็จจริง และ เนื้อหาตามที่ปรากฏในญัตติ ชี้ให้เห็นความแตกต่าง และเปรียบเทียบข้อความในญัตติ
๒.๓ แสดงให้ผู้ฟังได้เห็นเหตุผล ด้วยการยกตัวอย่างกล่าวเปรียบเทียบ อ้างหลักฐาน และเหตุผลต่างๆ ให้ผู้ฟังเชื่อถือ และคิดคล้อยตาม
๒.๔ แสดงประเด็นที่สำคัญๆ ที่จะช่วยให้ญัตติที่เสนอเด่นชัดขึ้น ตั้งคำถามให้ฝ่ายตรงข้ามตอบ
๒.๕ กล่าวคัดค้าน เมื่อฝ่ายค้านใช้คารม วาทศิลป์ และเหตุผลหักล้างข้อเสนอ ก่อนกล่าวคัดค้านควรจดจำคำพูด และประเด็นสำคัญ ๆไว้
๒.๖ สรุปในตอนท้าย โดยพยายามรวบรวมความคิด และประเด็นสำคัญๆ ที่ฝ่ายเสนอพูดไปทั้งหมด และเสนอประเด็นใหม่ กล่าวทิ้งท้ายยั่วยุให้ผู้ฟังคิด และเชื่อถือในข้อเสนอทั้งมวลของฝ่ายเสนอ

๓. หัวหน้าฝ่ายค้าน มีหน้าที่ดังนี้ คือ
๓.๑ กล่าวคัดค้านข้อเสนอ และเหตุผลต่างๆ ที่หัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวมาทุกประเด็น ใช้เหตุผล
และหลักฐานต่างๆ ประกอบการคัดค้าน
๓.๒ บันทึกประเด็น และคำพูดสำคัญๆ ที่ฝ่ายเสนอกล่าว แล้วหาจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดต่างๆ
เพื่อหาเหตุผล และถ้อยคำมาหักล้างคำพูดของฝ่ายเสนอ
๓.๓ เสนอประเด็นสำคัญๆ ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการโจมตีหรือหักล้างให้เหตุผลของฝ่ายเสนออ่อนลงไป
๓.๔ รวบรวมประเด็นสำคัญๆ ของฝ่ายค้านไว้กล่าวสรุป ในขณะเดียวกันก็บันทึกรวบรวมประเด็นสำคัญๆ ของฝ่ายเสนอไว้ด้วยเพื่อหาทางใช้เหตุผลสรุปโจมตีฝ่ายเสนอในตอนท้าย
๓.๕ กล่าวสรุปเมื่อผู้เสนอคนสุดท้ายพูดเสร็จ พูดใช้เหตุผลหักล้างประเด็นของฝ่ายเสนอให้หมด แล้วใช้วาทศิลป์จูงใจให้ผู้ฟังเชื่อถือ และเกิดความคิดคล้อยตามข้อคัดค้านของตน

๔. ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
๔.๑ กล่าวคัดค้าน การคัดค้านของหัวหน้าฝ่ายค้าน และคณะ
๔.๒ บันทึกถ้อยคำ และประเด็นที่สำคัญที่ฝ่ายค้านกล่าวมา แล้วหาทางใช้คำพูด และเหตุผลหักล้างข้อคิด ประเด็น เหตุผล ตลอดจนคำพูดที่ฝ่ายค้านทุกคนเสนอมา
๔.๓ กล่าวเสริมสนับสนุนความคิดสำคัญๆ ที่หัวหน้าฝ่ายเสนอได้กล่าวไปแล้ว
๔.๔ เสนอประเด็นใหม่ เหตุผลใหม่เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ข้อเสนอตามญัตติมีเหตุผลหนักแน่นยิ่งขึ้น
๔.๕ กล่าวย้ำตอนที่สำคัญที่เห็นว่าฝ่ายค้านมองข้ามไป หรือ มิได้กล่าวคัดค้าน

๕. ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
๕.๑ กล่าวคัดค้านเหตุผลของฝ่ายเสนอ ทั้งหัวหน้า และผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอในทุกประเด็นให้ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
๕.๒ บันทึกถ้อยคำ และประเด็นสำคัญๆ ที่ฝ่ายเสนอกล่าวมา แล้วพยายามหาทางใช้วาทศิลป์หักล้างข้อเสนอเหล่านั้น
๕.๓ กล่าวสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนอื่นๆ
๕.๔ เสนอประเด็นคัดค้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่หัวหน้าฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน คนอื่นได้พูดมาแล้ว
๕.๕ พูดเน้นหัวข้อที่สำคัญๆ และหาทางพูดจูงใจให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ และมีความคิดคล้อยตามการคัดค้านของฝ่ายตน
เทคนิคในการโต้วาที
ในการโต้วาทีนั้น ผู้พูดควรมีเทคนิค และวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
๑. การโต้เถียง และแสดงคารมนั้น ควรใช้พื้นความรู้ในด้านต่างๆ ประกอบการพูด เพราะถ้ามีความรู้ดีการถกเถียงก็ยิ่งมีเหตุผลใกล้เคียงกับความเป็นจริง และนอกจากการมีพื้นความรู้ที่ดีแล้ว ควรจะมีความรวบรู้ด้วยคนที่ฟังมาก อ่านมาก เห็นมาก มีประสบการณ์มากย่อมมีความสามารถ ในการแสดงเหตุผล ได้ดีกว่าผู้ที่ขาดความรอบรู้
๒. การแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นการเสนอประเด็น หรือคัดค้าน ควรเสนอข้อเท็จจริง และเหตุผลต่างๆ อย่างดีเป็นที่น่าเชื่อถือ แม้จะมีผู้พยายาม ใช้วาทศิลป์หรือเหตุผลหักล้างก็ทำได้ไม่ง่ายนัก
๓. การคัดค้าน การกล่าวแก้ การแสดงคารมคมคายหรือใช้เหตุผลหักล้างเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามนั้น ควรทำให้แนบเนียน จนผู้ฟังทั่วไปเห็นว่า การแสดงเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามนั้นใช้ไม่ได้หรือเชื่อถือไม่ได้
๔. ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามพูดควรฟังอย่างตั้งใจจดประเด็นหรือคำพูดสำคัญไว้กล่าวแก้หรือค้านเวลาพูดควรใช้เทคนิคการพูดจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อ การเกิดความคิดคล้อยตาม
๕. ใช้ถ้อยคำ และสำนวนภาษาที่สุภาพ พยายามเลือกสรรถ้อยคำที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ดีงาม หลีกเลี่ยงภาษาต่ำ ภาษาคะนอง และคำหยาบต่างๆ
๖. การโต้วาทีให้ทั้งสาระ และความบันเทิง เพราะฉะนั้นในการถกเถียงโต้แย้งควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับ ไม่ควรพูดเล่นลิ้น หรือใช้คารมจนเกินไป
๗. ใช้คำพูดที่เหมาะสม สั้น กะทัดรัด ฟังแล้วเข้าใจได้โดยทันที ไม่ต้องตีความ พูดให้ชัดเจน เสียงที่พูดจริงจัง กระตือรือร้น เน้นเสียงในที่ควรเน้น และพูดเสียงเบาในที่ควรใช้เสียงเบา
๘. ใช้ท่วงที ท่าทาง และสีหน้าประกอบการพูด อาจจะมีการทุบโต๊ะ ทุบที่ฝ่ามือบ้าง ขณะที่พูดควรใช้สายตามองไปยังผู้ฟังให้ทั่วถึง เพื่อตรึงความสนใจของผู้ฟัง ในขณะเดียวกันก็ควรสังเกตความสนใจของผู้ฟังด้วย ยิ้มเมื่อพูดถึงข้อความที่ชวนขัน แต่ไม่ควรหัวเราะเสียเอง ทำหน้าบึ้งเมื่อกล่าวถึงข้อความที่แสดงอาการไม่พอใจ และทำหน้าขึงขังเมื่อพูดถึงตอนเด็ดขาด
๙. ขณะที่พูดควรควบคุมอารมณ์ให้ดี อย่าเผลอโกรธ หรือแสดงอารมณ์ออกไปไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจา สีหน้า ท่าทาง เพราะจะเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีได้
การตัดสินการโต้วาที
การตัดสินการโต้วาทีนั้น ตามหลักแล้วจะต้องมีการตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้ การที่การโต้วาทีในประเทศไทย ยังมีผลเสมอกันบ่อยๆ นั้น เพราะผู้จัดก็ดี กรรมการก็ดี ยังไม่ใช้หลักสากลที่ว่าเมื่อมีการโต้วาทีกันแล้ว ผลต้องปรากฏออกมาว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นฝ่ายแพ้นั่นเอง ในกรณีที่เหตุผลของแต่ละฝ่ายก้ำกึ่งกัน ต้องถือว่าฝ่ายเสนอเป็นฝ่ายแพ้ เพราะตามธรรมดานั้นถ้าเราเสนอสิ่งใดให้เป็นที่ยอมรับ เราต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอ แม้จะมีผู้คัดค้าน น้ำหนักในการค้านก็จะต้องไม่เพียงพอข้อเสนอจึงจะเป็นที่ยอมรับได้
อนึ่ง ควรเข้าใจความหมายของคำว่า "ญัตติ" ด้วยว่าญัตติหมายถึง ข้อเสนอเพื่อลงมติ การลงมติต้องออกผลมาประการใดประการหนึ่งเท่านั้น คือ ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ถ้าผ่าน ผู้เสนอญัตติก็เป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายแพ้ โดยกลับกันถ้าไม่ผ่าน ฝ่ายเสนอก็แพ้ ฝ่ายค้านก็ชนะ
การตัดสินผลการโต้วาทีให้มีฝ่ายชนะ และฝ่ายแพ้ อาจทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
๑. การตัดสินโดยคณะกรรมการ ตามปกติผู้จัดให้มีการโต้วาทีจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีจำนวน ๒-๓ คน เป็นผู้ตัดสินผลการโต้วาที
๒. การตัดสินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ตามปกติแล้วการโต้วาทีนั้น มักจะมีผู้ทรงคุณวุฒิมานั่งฟังอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง คณะผู้จัดอาจเชิญให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นเป็นผู้วิจารณ์ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ ผู้ฟังก็จะได้รับทราบเหตุผลการแพ้ชนะไปด้วย การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีเกียรติให้เป็นผู้ตัดสินการโต้วาทีนั้น ควรเชิญมาล่วงหน้าจะดีกว่าเชิญ ณ ที่นั้นเลย
๓. ประธานการโต้วาทีเป็นผู้ตัดสิน ในบางกรณีประธานการโต้วาทีจะเป็นผู้ตัดสินโต้วาทีด้วยบางครั้งผลการตัดสินของคณะผู้ตัดสินปรากฏว่าเสมอกัน ประธานก็จะต้องเป็นผู้ชี้ขาด
๔. ผู้ฟังเป็นผู้ตัดสิน ผู้ฟังเป็นผู้ที่ตัดสินใจในการโต้วาทีในครั้งนั้นอย่างจริงจังจึงได้มาฟัง เพราะฉะนั้นเขาจะฟังด้วยความสนใจ และตั้งใจ การให้ผู้ฟังเป็นผู้ตัดสินก็นับว่าดีในแง่ที่ว่าผู้ฟังได้มีส่วนร่วมด้วย และอาจจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ยุติธรรมได้ วิธีการตัดสินมักจะให้ผู้ฟังยกมือ หรือลงบัตร หรทอปรบมือ (ซึ่งใช้การจับเวลาความนานของการปรบมือ)http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Speech.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น